ภาวะเงินฝืดที่ทำให้พันธบัตรจีนให้ผลตอบแทนดีขึ้น ได้ดึงดูดนักลงทุนจากโตเกียวให้เข้าซื้อบอนด์จีนเป็นครั้งแรก
ฮิคารุ ทานากะ ผู้จัดการกองทุนของบริษัทแอสเซต แมเนจเมนต์ วัน (Asset Management One) ของญี่ปุ่นในโตเกียวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อวันศุกร์ (21 ก.พ.) ว่า ทีมงานที่ดูแลการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศของบริษัทได้เริ่มเข้าซื้อพันธบัตรจีนตั้งแต่เดือนต.ค. 2567 และได้เพิ่มการลงทุนในพันธบัตรของจีนเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ทานากะกล่าวว่า "ปัญหาเศรษฐกิจของจีนที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินที่มากเกินไปและภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นเคยเผชิญในช่วงทศวรรษ 1990 และเรามองว่า ในระยะยาวเศรษฐกิจจีนแทบหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเดินตามเส้นทางเดียวกับญี่ปุ่น"
พันธบัตรรัฐบาลจีนให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนมากกว่า 9% ในปี 2567 โดยไม่รวมความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งทำได้ดีกว่าพันธบัตรของประเทศอื่น ๆ ขณะที่เศรษฐกิจที่ซบเซากดดันให้อัตราผลตอบแทนลดลง
การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนอาจเข้าสู่ภาวะเงินฝืดเป็นเวลานานนั้น อาจทำให้แนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าทางการจีนจะมีมาตรการเพื่อหยุดการคาดการณ์เชิงลบต่อเศรษฐกิจก็ตาม
การที่พันธบัตรของจีนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในดัชนีพันธบัตรรัฐบาลโลก (World Government Bond Index) ของ FTSE Russell ทำให้ทานากะเริ่มซื้อพันธบัตรเหล่านี้ในช่วงแรก ก่อนที่จะเพิ่มการเข้าซื้อเมื่อมีความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
"เป็นเรื่องยากที่จะไม่เป็นเจ้าของพันธบัตรเหล่านี้เลย" เขากล่าว
จากการวิเคราะห์ข้อมูลดุลการชำระเงินของญี่ปุ่นโดยบลูมเบิร์กระบุว่า นักลงทุนญี่ปุ่นได้เพิ่มการถือครองพันธบัตรของจีนถึง 53% เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในบรรดาตลาดที่รวมอยู่ในดัชนีพันธบัตรรัฐบาลโลก