ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต แห่งอินโดนีเซีย เปิดตัวกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่มีชื่อว่า "ดายา อนากาตา นูซันตารา อินโดนีเซีย" (Daya Anagata Nusantara Indonesia) หรือ "ดานันตารา อินโดนีเซีย" (Danantara Indonesia) พร้อมประกาศลงทุน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการต่าง ๆ ครอบคลุมตั้งแต่การแปรรูปโลหะไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กองทุนดานันตารา อินโดนีเซีย จะบริหารสินทรัพย์มูลค่ากว่า 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจให้แตะระดับ 8% จากปัจจุบันที่ประมาณ 5%
ดานันตาราจะเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติลำดับที่ 2 ของอินโดนีเซีย ต่อจาก Indonesia Investment Authority (INA) โดยดานันตาราจะถือหุ้นของรัฐบาลในรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ในลักษณะเดียวกับเทมาเส็ก (Temasek) ของสิงคโปร์ แม้จะมีเสียงคัดค้านจากกลุ่มนักศึกษาหลายพันคนที่ออกมาประท้วงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับการบริหารกองทุนผิดพลาด
"ดานันตารา อินโดนีเซีย เป็นแนวทางยุทธศาสตร์ในการเพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ เราจะไม่เพียงนำเงินปันผลจากรัฐวิสาหกิจไปลงทุนในอุตสาหกรรมที่สนับสนุนการเติบโตในระยะยาวเท่านั้น แต่เราจะปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของเราให้กลายเป็นผู้นำระดับโลกในแต่ละภาคส่วนด้วย" ปธน.ปราโบโวกล่าวในพิธีเปิดวันนี้ (24 ก.พ.)
การลงทุนรอบแรกมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จะครอบคลุมกว่า 20 โครงการ อาทิ การแปรรูปนิกเกิล บ็อกไซต์ และทองแดง การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ โรงกลั่นน้ำมัน พลังงานหมุนเวียน และการผลิตอาหาร โดยปธน.ปราโบโวยืนยันว่า กองทุนจะบริหารงานอย่างโปร่งใสและพร้อมให้ตรวจสอบได้ตลอดเวลา
ดานันตาราจะแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วน คือ บริษัทโฮลดิ้งที่ดูแลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานด้านการลงทุน โดยโรซัน รูซลานี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดานันตารา และปันดู ชะฮ์รีร์ หุ้นส่วนผู้จัดการอินดีส์ แคปิตอล (Indies Capital) เป็นหัวหน้าหน่วยงานด้านการลงทุน
ทั้งนี้ ดานันตาราจะดำเนินงานแยกจาก INA ซึ่งปัจจุบันบริหารสินทรัพย์มูลค่า 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐวิสาหกิจสำคัญที่จะอยู่ภายใต้การบริหารของดานันตาราประกอบด้วยธนาคารมันดิรี (Bank Mandiri) ธนาคารรักยัต อินโดนีเซีย (Bank Rakyat Indonesia) ธนาคารเนการา อินโดนีเซีย (Bank Negara Indonesia) บริษัทเปอร์ตามิน่า (Pertamina) บริษัทเปอรูซาฮาน ลิสทริก เนการา (Perusahaan Listrik Negara) และเทลคอม อินโดนีเซีย (Telkom Indonesia)