นายมารอช เชฟโควิช ประธานคณะกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป (EU) ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางการค้าของสหรัฐเมื่อวานนี้ เพื่อโน้มน้าวให้สหรัฐระงับการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ในวันที่ 2 เม.ย.
ทั้งนี้ นายเชฟโควิชได้ทำการหารือกับนายโฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ นายเจมีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ และนายเควิน แฮสเซตต์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทำเนียบขาว
อย่างไรก็ดี นายเชฟโควิชไม่ได้เปิดเผยผลการเจรจาดังกล่าว หลังจากที่การเจรจา 2 ครั้งของ EU ก่อนหน้านี้ ยังคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ซึ่งเตรียมประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ในวันที่ 2 เม.ย. ต่อประเทศคู่ค้าที่ปธน.ทรัมป์มองว่าเอาเปรียบทางการค้าต่อสหรัฐ
นอกจากนี้ นายเชฟโควิชกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในการเจรจากับสหรัฐ หลังจากปธน.ทรัมป์เรียกเก็บภาษี 25% ต่อเหล็กและอะลูมิเนียมที่นำเข้าจาก EU
ล่าสุด เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐ ซึ่งรวมถึงนายสก็อต เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวว่า สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ในวันที่ 2 เม.ย.ต่อกลุ่มประเทศ "Dirty 15" หรือ 15 ประเทศที่เกินดุลการค้าสูงสุดต่อสหรัฐ
แม้ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ 15 ประเทศดังกล่าว แต่ข้อมูลจากสำนักงานสำมะโนประชากรของสหรัฐ (US Census Bureau) ระบุว่า 15 ประเทศที่เกินดุลการค้าสูงสุดต่อสหรัฐ (เรียงตามวงเงินเกินดุล) ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป เม็กซิโก เวียดนาม ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา อินเดีย ไทย สวิตเซอร์แลนด์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และแอฟริกาใต้
ส่วนข้อมูลจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ระบุว่า ประเทศที่เกินดุลการค้าสูงสุดต่อสหรัฐ (เรียงตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ) ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน ไทย ตุรกี สหราชอาณาจักร และเวียดนาม