ซูซาน คอลลินส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาบอสตันกล่าวว่า มาตรการภาษีศุลกากรของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลให้เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเกิดขึ้นเป็นเวลานานเพียงใด
คอลลินส์แสดงความเห็นในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นในเมืองบอสตันในวันพฤหัสบดี (27 มี.ค.) ว่า มาตรการภาษีศุลกากรจะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และแม้ว่าขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ แต่เธอมองว่า ยังคงมีความเสี่ยงที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้นเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ ประธานเฟดสาขาบอสตันยังสนับสนุนการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยระบุว่าการที่เงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นและความไม่แน่นอนที่จะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น การคงอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะเวลานานขึ้นน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม
ในการประชุมเมื่อวันที่ 19 มี.ค. คณะกรรมการเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 4.25% - 4.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ตามคาด ส่วนในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.50% ในปีนี้
นอกจากนี้ เฟดได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ลงสู่ระดับ 1.7% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.1% และปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ สู่ระดับ 2.8% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 2.5%
ปธน.ทรัมป์ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อวันพุธที่ 26 มี.ค. เพื่อเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์และรถบรรทุกขนาดเล็กในอัตรา 25% จากเดิมที่ระดับ 2.5% โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย. โดยปธน.ทรัมป์คาดหวังว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้บริษัทรถยนต์ย้ายฐานการผลิตกลับมายังสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยสร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับรัฐบาล รวมทั้งช่วยลดหนี้สาธารณะของประเทศ