สหภาพยุโรป (EU) ได้สั่งปรับผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ 15 ราย รวมถึงโตโยต้า (Toyota) และสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ยุโรป เป็นมูลค่ารวม 458 ล้านยูโร (494 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในขบวนการคาร์เทล (cartel) หรือกลุ่มผูกขาดเพื่อครอบงำตลาดเกี่ยวกับการรีไซเคิลรถยนต์
คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ระบุว่า สมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งยุโรป (ACEA) ได้อำนวยความสะดวกในการดำเนินการของคาร์เทลดังกล่าวโดยจัดการประชุมและติดต่อระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ 16 รายมาเป็นเวลามากกว่า 15 ปี
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ 16 รายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคาร์เทลดังกล่าว แต่ไม่ถูกปรับเนื่องจากเปิดเผยการปฏิบัติที่เป็นการต่อต้านการแข่งขันต่อทาง EC
EC ระบุว่า ตั้งแต่เดือนพ.ค. 2545 ถึงเดือนก.ย. 2560 บริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องเล็งเห็นว่า ธุรกิจการรีไซเคิลรถเก่ามีความสามารถในการทำกำไร จึงตกลงกันว่าจะไม่จ่ายเงินให้กับผู้ทำลายรถยนต์ รวมทั้งยังตกลงที่จะไม่โฆษณาเกี่ยวกับปริมาณวัสดุรีไซเคิลที่ใช้ในรถใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคพิจารณาข้อมูลการรีไซเคิลเมื่อเลือกซื้อรถ ซึ่งอาจช่วยลดแรงกดดันในการทำให้บริษัทต้องดำเนินการเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
บริษัทที่ถูกปรับได้แก่บริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น เช่น ฮอนด้า (Honda), นิสสัน (Nissan), มิตซูบิชิ (Mitsubishi), ซูซูกิ (Suzuki) และมาสด้า (Mazda) รวมถึงบริษัทสัญชาติเยอรมนีอย่าง โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) นั้นได้ถูกปรับสูงสุดราว 128 ล้านยูโร โดยบริษัททั้งหมดยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มคาร์เทลดังกล่าว
ทั้งนี้ เทเรซา ริเบรา รองประธานบริหารที่ดูแลนโยบายการแข่งขันของ EC กล่าวว่า "เราไม่ยอมรับกลุ่มพันธมิตรที่ผูกขาดการค้าทุกรูปแบบ โดยเฉพาะกลุ่มที่สกัดกั้นการรับรู้ของลูกค้าและความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม"