นักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) ระบุว่า มาตรการภาษีตอบโต้ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียมากกว่าในช่วงปี 2561-2562 ขณะที่ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่มียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ทำให้ได้รับผลกระทบจากภาษีมากที่สุด
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาคือ ประเทศเหล่านี้จะสามารถเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อลดภาษีศุลกากรลงได้หรือไม่
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังระบุว่า ความไม่แน่นอนด้านนโยบายในระดับสูงจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ซึ่งจะกระทบต่อการลงทุนและการค้าตามมา และเสริมว่า ยิ่งเศรษฐกิจของประเทศใดพึ่งพาการค้ามากเท่าไร ผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารในวันพุธ (2 เม.ย.) เพื่อประกาศใช้ทั้งมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) และมาตรการภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาล (Universal Tariffs) โดยมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกถูกเรียกเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ
ปธน.ทรัมป์ประกาศว่า จะมีการเรียกเก็บภาษีศุลกากรพื้นฐานในอัตรา 10% จากทุกประเทศ ในขณะที่จะเก็บภาษีตอบโต้เพิ่มเติมกับคู่ค้าของสหรัฐฯ บางประเทศ ซึ่งรวมถึงจีนที่ถูกเรียกเก็บ 34%, อินเดีย 26%, เกาหลีใต้ 25%, ญี่ปุ่น 24% และสหภาพยุโรป (EU) 20%
ส่วนประเทศในอาเซียนถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ถ้วนหน้าเช่นกัน นำโดยกัมพูชา 49%, ลาว 48% เวียดนาม 46%, เมียนมา 44%, ไทย 36%, อินโดนีเซีย 32%, บรูไน 24%, มาเลเซีย 24% ฟิลิปปินส์ 17% และสิงคโปร์ 10%