ตลาดการเงินทั่วโลกเผชิญกับความปั่นป่วนอย่างหนักในวันนี้ (3 เม.ย.) หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรกับทุกประเทศ โดยนักลงทุนต่างกันวิตกกังวลว่ามาตรการภาษีของทรัมป์จะนำไปสู่การทำสงครามการค้าทั่วโลก ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้วในขณะนี้ให้ย่ำแย่ลงไปอีก
เพียงไม่นานหลังจากที่ทรัมป์ลงนามคำสั่งใช้มาตรการภาษีใหม่ในเวลา 16.00 น. ของวันพุธ ตามเวลากรุงวอชิงตัน ซึ่งตรงกับเวลา 03.00 น. ของวันนี้ตามเวลาไทย หลายประเทศได้ออกมาแสดงปฏิกิริยาทันที รวมถึงประเทศไทย โดยบางประเทศต่อว่าต่อขานทรัมป์ที่ทำเกินกว่าเหตุ ขณะที่อีกหลายประเทศ รวมถึงสหภาพยุโรป (EU) ประกาศกร้าวว่าจะใช้มาตรการภาษีแบบเดียวกันนี้โต้ตอบกลับ หากการเจรจากับทรัมป์คว้าน้ำเหลว
นอกจากนี้ หลังจากทรัมป์จรดปากกาลงนามคำสั่งใช้มาตรการภาษีครั้งใหม่ได้เพียงไม่นาน ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ร่วงลงกว่า 1,000 จุด ขณะที่ราคาน้ำมัน WTI ดิ่งลงกว่า 3% และดัชนีตลาดหุ้นในเอเชียร่วงลงอย่างรุนแรง เนื่องจากนักลงทุนตื่นตระหนกและทุบขายสินทรัพย์เสี่ยง สวนทางกับราคาทองฟิวเจอร์ที่ทะยานขึ้นไปยืนเหนือระดับ 3,200 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากนักลงทุนแห่ถือครองทองคำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง
- ถอดรหัสภาษีทรัมป์ ทำไมแต่ละประเทศถูกเรียกเก็บไม่เท่ากัน
ทรัมป์ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรในครั้งนี้ 2 แบบด้วยกัน คือภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) และภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาล (Universal Tariffs) ซึ่งมาตรการภาษีตอบโต้ก็เป็นไปตามชื่อเรียก คือตอบโต้ประเทศที่รีดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ส่วนมาตรการภาษีครอบจักรวาล คืออัตราภาษีพื้นฐาน 10% ที่เรียกเก็บกับสินค้าจากทุกประเทศที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ
การประกาศมาตรการภาษีครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานการค้าโลกครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประเทศที่เผชิญกับความยากลำบากอยู่แล้ว โดยเฉพาะประเทศที่เพิ่งประสบกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่อย่างเมียนมาและไทย รวมทั้งประเทศที่อยู่ในภาวะสงครามอย่างยูเครน
หลายคนตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดทรัมป์จึงเก็บภาษีแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ซึ่งบางคนก็อาจใช้หลักการคำนวณทางคณิตศาสตร์ แต่เมื่อพิจารณาจากตารางภาษีที่เผยแพร่โดยทำเนียบขาวแล้วก็น่าจะเป็นคำตอบได้ว่า ประเทศที่เก็บภาษีศุลกากรกับสหรัฐฯ ในอัตราสูง ก็จะถูกตอบโต้ด้วยภาษีที่สูง และประเทศที่เก็บภาษีกับสหรัฐฯ ในอัตราที่ต่ำ ก็จะถูกรีดภาษีต่ำลงมาเช่นกัน ... ซึ่งสมกับความหมายของคำว่า "ภาษีต่างตอบแทน"
ทั้งนี้ เมื่อดูจากตารางภาษีที่จัดทำโดยทำเนียบขาวก็พบว่า ประเทศที่เก็บภาษีกับสหรัฐฯ สูงที่สุดและถูกตอบโต้กลับมาหนักที่สุด คือประเทศในกลุ่มอาเซียนของเรานี่เอง นำโดยกัมพูชาที่เก็บภาษีสหรัฐฯ สูงถึง 97% จึงถูกเอาคืนด้วยภาษีตอบโต้ในอัตราสูงกว่าแทบจะทุกประเทศที่ 49% รองลงมาคือลาวที่เก็บภาษีสหรัฐฯ 95% และถูกโต้กลับด้วยภาษี 48%
- ทรัมป์โว อเมริกาเก็บภาษีแค่ครึ่งเดียวของที่ถูกกระทำ
ในระหว่างการประกาศมาตรการภาษีศุลกากรซึ่งจัดขึ้นในงานอีเวนต์ที่ชื่อว่า "Make America Wealthy Again" ณ ลานโรส การ์เดนในทำเนียบขาวว่า ทรัมป์กล่าวว่า อัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ที่เรียกเก็บในครั้งนี้ คิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของอัตราภาษีที่สินค้าสหรัฐฯ ถูกเรียกเก็บจากประเทศคู่ค้าทั้งที่เป็นคู่แข่งและพันธมิตร หรือเท่ากับว่าอัตราภาษีที่เรียกเก็บในรอบนี้ นับว่าสหรัฐฯ "ยั้งมือ" หรือ "ปรานี" แล้ว
ทรัมป์พูดมาโดยตลอดว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเอาคืนประเทศที่เอารัดเอาเปรียบสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงมาก และในระหว่างการแถลงข่าวที่ลานโรส การ์เดน เขากล่าวว่า "เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ประเทศของเราถูกปล้น ถูกรุกราน ถูกข่มขืนใจ และถูกทำลายโดยประเทศต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกล ทั้งจากมิตรและศัตรู"
- ผลิตภัณฑ์น้ำมัน รอดกรงเล็กภาษีทรัมป์
ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า การนำเข้าน้ำมัน ก๊าซ และผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่น ได้รับการยกเว้นจากมาตรการภาษีศุลกากรรอบใหม่
ผู้สันทัดกรณีมองว่า การตัดสินใจยกเว้นภาษีดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความกังวลให้กับอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐฯ หลังจากอุตสาหกรรมในภาคส่วนนี้ได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลว่ามาตรการภาษีรอบใหม่อาจส่งผลให้การไหลเวียนของผลิตภัณฑ์น้ำมันตกอยู่ในภาวะชะงักงัน และจะเป็นการเพิ่มต้นทุนทุกอย่าง ตั้งแต่น้ำมันดิบจากแคนาดาที่ส่งไปยังโรงกลั่นในเขตมิดเวสต์ ไปจนถึงการขนส่งน้ำมันเบนซินและดีเซลจากยุโรปมายังชายฝั่งตะวันออก
- แคนาดา-เม็กซิโกรอดภาษีรอบใหม่ ทำไมรอด
ในการประกาศมาตรการภาษีรอบใหม่นี้ ทรัมป์ได้ยกเว้นภาษีศุลกากรพื้นฐานในอัตรา 10% ให้กับแคนาดาและเม็กซิโกซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดสองอันดับแรกของสหรัฐฯ นั่นเป็นเพราะทั้งสองประเทศได้ถูกเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 25% อยู่ก่อนแล้ว และจะไม่ถูกเก็บภาษีเพิ่มเติมในรอบนี้
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม มาร์ค คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีแคนาดา ประกาศพร้อมสู้กลับ เพราะแม้แคนาดาจะรอดจากมาตรการภาษีในครั้งนี้ แต่ภาษีนำเข้า 25% ที่เรียกเก็บจากรถยนต์นำเข้าทุกคัน จะยังคงมีผลบังคับใช้หลังเที่ยงคืนของวันพฤหัสบดี ซึ่งภาษีส่วนนี้ส่งผลกระทบต่อแคนาดาด้วย
"เราจะต่อสู้กับภาษีศุลกากรเหล่านี้ด้วยมาตรการตอบโต้ เราจะปกป้องแรงงานของเรา และเราจะสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่ม G7" คาร์นีย์ประกาศกร้าว
- อินเดียเพื่อนซี้ ยังโดนด้วย
แม้ว่า นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย จะเป็นหนึ่งในผู้นำต่างประเทศคนแรก ๆ ที่เข้าพบทรัมป์หลังจากที่ทรัมป์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่ทรัมป์ก็กำหนดอัตราภาษีศุลกากรกับอินเดียในรอบนี้ไว้ที่ 27% ซึ่งสูงกว่าที่เรียกเก็บจากสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า ไม่มีมิตรและศัตรูที่ถาวรในโลกของการค้าระหว่างประเทศ
ทรัมป์กล่าวถึงเหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้ว่า "อินเดียเก็บภาษีเราสูงถึง 52% แต่เราแทบไม่ได้เก็บภาษีอะไรจากเขาเลยมานานหลายปี หลายทศวรรษ"
รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า การเก็บภาษีอินเดียครั้งนี้เป็นผลมาจากอุปสรรคทางการค้าที่อินเดียตั้งขึ้น ทั้งที่เป็นกำแพงภาษีและมาตรการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษี รวมถึงมีข้อกล่าวหาว่าอินเดียแทรกแซงค่าเงิน
การตัดสินใจของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ เป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลของโมดี ซึ่งก่อนหน้านี้ได้พยายามดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐฯ เช่น การลดภาษีนำเข้ามอเตอร์ไซค์และเหล้าเบอร์เบินจากสหรัฐฯ
- จีนลั่นพร้อมตอบโต้ เตือนสหรัฐฯ ยกเลิกภาษีศุลกากรทันที
ทรัมป์ประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มอีก 34% นอกเหนือจากภาษี 20% ที่เคยประกาศไปก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าจีนรวมอยู่ที่ระดับ 54% ซึ่งใกล้เคียงกับระดับ 60% ที่ทรัมป์เคยขู่ไว้ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อปิดช่องโหว่ทางการค้าที่เรียกว่า "de minimis" หรือข้อยกเว้นภาษีการนำเข้ากับพัสดุขนาดเล็กจากจีนและฮ่องกงที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ
หลังคำประกาศสิ้นสุดลงไม่นาน กระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์ว่า การกระทำของทรัมป์ถือเป็นการเพิกเฉยต่อผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเจรจาการค้าพหุภาคีตลอดหลายปีที่ผ่านมา และละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐฯได้รับประโยชน์อย่างมากจากการค้าระหว่างประเทศมาโดยตลอด
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จีนเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรโดยทันที พร้อมขู่ว่าจะใช้มาตรการตอบโต้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ
- เกาหลีใต้ประกาศใช้ทุกมาตรการที่มีรับมือภาษีศุลกากรสหรัฐฯ
เกาหลีใต้จัดประชุมฉุกเฉินว่าด้วยยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพียงไม่นานหลังจากทรัมป์ประกาศมาตรการภาษี ซึ่งเกาหลีใต้โดนไป 26% โดยฮัน ด็อกซู รักษาการประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กล่าวว่า รัฐบาลเกาหลีใต้จะใช้มาตรการทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อรับมือกับภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ
ฮันกล่าวในระหว่างการประชุมดังกล่าวซึ่งมีรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการค้าเข้าร่วมประชุม ว่า "ในขณะที่สงครามภาษีทั่วโลกใกล้จะเป็นจริง รัฐบาลควรใช้ทุกขีดความสามารถทั้งหมดที่มีเพื่อเอาชนะวิกฤตการค้า"
ทั้งนี้ รักษาการประธานาธิบดีเกาหลีใต้ได้สั่งการให้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมวิเคราะห์รายละเอียดและผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และรุกเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อลดความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด นอกจากนี้เขายังได้สั่งการให้รัฐบาลเร่งจัดเตรียมมาตรการสนับสนุนสำหรับอุตสาหกรรมและบริษัทต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ เช่น ภาคยานยนต์
- ญี่ปุ่นมิตรแท้ยังไม่ถอดใจ เตรียมขอยกเว้นภาษีจากทรัมป์
โยจิ มูโตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของญี่ปุ่นกล่าวว่า ญี่ปุ่นจะเดินหน้าขอยกเว้นภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ ต่อไป หลังจากที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีศุลกากรกับญี่ปุ่นในอัตรา 24%
มูโตะกล่าวกับ โฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ในระหว่างการประชุมออนไลน์ช่วงเช้าวันนี้ว่า แผนการเก็บภาษีศุลกากรล่าสุดนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ และจะทำให้บริษัทต่าง ๆ ประสบความยากลำบากในการลงทุนในตลาดสหรัฐฯ และจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เอง
ขณะที่โยชิมาสะ ฮายาชิ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น แสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับมาตรการภาษีล่าสุดของสหรัฐฯ พร้อมตั้งคำถามว่า การกระทำดังกล่าวสอดคล้องกับกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) และข้อตกลงการค้าทวิภาคีหรือไม่
- ออสเตรเลียผิดหวัง ชี้ไม่ใช่การกระทำของมิตร
แอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ประณามมาตรการเก็บภาษีนำเข้าใหม่ของสหรัฐอเมริกาว่า ขาดตรรกะและขัดแย้งกับหลักการความเป็นพันธมิตรระหว่างสองชาติ
นายกฯ ออสเตรเลียให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่เมืองเมลเบิร์นเมื่อเช้านี้ว่า การที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากออสเตรเลียในอัตรา 10% ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลออสเตรเลียคาดไม่ถึง แต่ก็ถือเป็นการกระทำที่ไร้เหตุผล
อย่างไรก็ตาม อัลบาเนซียืนยันว่าออสเตรเลียจะไม่ใช้มาตรการตอบโต้ทางภาษีต่อสินค้าจากสหรัฐฯ แต่จะใช้กลไกการระงับข้อพิพาทที่กำหนดไว้ในข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสองประเทศแทน ซึ่งเป็นไปตามที่สถานีโทรทัศน์เอบีซี (ABC) รายงานวานนี้ว่า รัฐบาลออสเตรเลียกำลังเตรียมฟ้องสหรัฐฯ ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ในข้อหาที่ละเมิดข้อตกลงการค้าเสรี
- ไต้หวันโวย ไม่ยุติธรรม
ไต้หวันวิจารณ์ว่า มาตรการภาษีที่ปธน.ทรัมป์ประกาศล่าสุด ซึ่งรวมถึงการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไต้หวันที่ 32% นั้นไม่ยุติธรรมและไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง และรัฐบาลไต้หวันมีแผนที่จะหารืออย่างจริงจังกับทางการสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์กล่าวหาว่าไต้หวันได้ขโมยอุตสาหกรรมชิปของสหรัฐฯ และขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเซมิคอนดักเตอร์จากไต้หวันสูงถึง 100% อย่างไรก็ดี มิเชลล์ ลี โฆษกคณะรัฐมนตรีไต้หวันกล่าวว่า มาตรการภาษีศุลกากรและการควบคุมการส่งออกที่มุ่งเป้าไปยังจีนซึ่งทรัมป์เป็นผู้ประกาศใช้ในการดำรงตำแหน่งสมัยแรก เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความต้องการชิปเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน
ลีกล่าวต่อไปด้วยว่า การที่สหรัฐฯ มีความต้องการสินค้า ICT พุ่งสูงขึ้นนั้นสะท้อนให้เห็นว่าไต้หวันเป็นส่วนสนับสนุนที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันไต้หวันกลับถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูง ซึ่งไต้หวันรู้สึกเสียใจมาก
- ไทยพร้อมหารือสหรัฐฯ ปรับดุลการค้าให้เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ "ท่าทีของประเทศไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา" ในเช้าวันนี้หลังจากทรัมป์ประกาศจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราสูงถึง 36% (ก่อนทำเนียบขาวปรับแก้ตัวเลขเป็น 37% ในเวลาต่อมา)
นายกรัฐมนตรีระบุว่า รัฐบาลไทยตระหนักและเข้าใจถึงความจำเป็นของสหรัฐฯ ที่จะต้องปรับสมดุลทางการค้ากับประเทศคู่ค้าจำนวนมาก ผ่านนโยบายอัตราภาษีต่างตอบแทน ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ที่เป็นคู่ค้าของสหรัฐฯ ในขณะที่กรอบแนวคิดและยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีทรัมป์ มีความเป็นพลวัต (dynamic) และแตกต่างไปจากยุคก่อนอย่างสิ้นเชิง
ไทยได้ส่งสัญญาณความพร้อมที่จะหารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในโอกาสแรก เพื่อปรับดุลการค้าให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย โดยส่งผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด โดยได้มอบหมายให้คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 ก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในการติดตามและประเมินสถานการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างใกล้ชิดและรอบด้าน ตลอดระยะเวลา 3 เดือน เพื่อจัดเตรียม "ข้อเสนอเพื่อปรับดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่มีสาระสำคัญเพียงพอให้สหรัฐฯ มีแรงจูงใจที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจากับไทย" ที่เหมาะสม และส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ประกอบการในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุด ในขณะเดียวกัน ไทยยังอาจใช้โอกาสนี้ในการปรับโครงสร้างการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้กับบางอุตสาหกรรมได้
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอีกหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของทรัมป์ลดหลั่นกันไป ยังคงต้องติดตามกันต่อแบบยาว ๆ ว่า แต่ละประเทศจะรับมือกับภาษีสหรัฐฯ งวดใหม่นี้อย่างไร หรือทรัมป์จะมาไม้ไหนอีก