ตลาดหุ้นเอเชียเปิดร่วงลงในวันนี้ (4 เม.ย.) ตามทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ดิ่งลงอย่างหนักเมื่อวานนี้ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดทั่วโลก
นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ซึ่งจะมีคำตัดสินถอดถอนประธานาธิบดียุน ซอกยอลในวันนี้ โดยหากเขาถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ก็จะมีเวลา 60 วันในการจัดเลือกตั้งเพื่อหาผู้นำคนใหม่
-- นักวิเคราะห์เตือนว่า การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ทุกประเภทในอัตราที่สูงขึ้นอย่างมากนั้น จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นซึ่งเน้นการส่งออกชะลอตัวลงประมาณ 2% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ญี่ปุ่นมีความกังวลว่า เศรษฐกิจซึ่งอยู่ในภาวะชะลอตัวอยู่แล้วเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้น อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย หากการส่งออกที่ลดลงจากการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีศุลกากร ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจและขัดขวางการขึ้นค่าแรง
-- เอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวลา ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) แสดงความกังวลเกี่ยวกับการลดลงของปริมาณการค้าโลก และการเกิดสงครามการค้า หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ต่อประเทศคู่ค้าเมื่อวันพุธ (2 เม.ย.)
อิเวลากล่าวว่า มาตรการภาษีของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการค้าโลก และแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
WTO คาดการณ์ว่า มาตรการเรียกเก็บภาษีวานนี้ รวมทั้งมาตรการที่สหรัฐบังคับใช้นับตั้งแต่ต้นปีนี้ จะส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกลดลงราว 1% ในปีนี้
-- คาร์ล ไวน์เบิร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก High Frequency Economics เปิดเผยว่า นโยบายเรียกเก็บภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐฯ ราว 10% ในไตรมาส 2/2568 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย
ทั้งนี้ การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยคือการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัว -3.7% ในไตรมาส 1/2568
-- นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนมิ.ย.,ก.ค.และต.ค. หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลกด้วยการประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ต่อประเทศคู่ค้า
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 80.8% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนพ.ค.
นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือนมิ.ย. และปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมเดือนก.ค. รวมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.50-3.75% ในการประชุมเดือนต.ค.
-- เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในการประชุมประจำปีของ Society for Advancing Business Editing and Writing (SABEW) ที่เมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย
พาวเวลจะกล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าวในวันนี้ (4 เม.ย.) เวลา 11.25 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับเวลา 22.25 น.ตามเวลาไทย
-- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ลดลง 6.1% สู่ระดับ 1.227 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.235 แสนล้านดอลลาร์ จากระดับ 1.314 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนม.ค.
การนำเข้าทรงตัวที่ระดับ 4.011 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 2.9% สู่ระดับ 2.785 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
-- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ลดลง 6,000 ราย สู่ระดับ 219,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 226,000 ราย
ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลง 1,250 ราย สู่ระดับ 223,000 ราย
-- ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่จะเปิดเผยในวันนี้ (4 เม.ย.) ได้แก่ ญี่ปุ่นเปิดเผยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเดือนก.พ., อินเดียเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนมี.ค.จาก HSBC, สิงคโปร์เปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนก.พ., อังกฤษเปิดเผยยอดขายรถยนต์ใหม่เดือนก.พ. และสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค.