ภีมะ ยุธิษฐิระ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และกฎหมาย เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (3 เม.ย.) ว่า ภาษีนำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียที่สหรัฐฯ ประกาศใช้ล่าสุดนั้น มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายในสิ้นปีนี้ โดยอาจมีผลกระทบต่อการส่งออก เงินรูเปียห์อ่อนค่าลง กระทบต่อตลาดหุ้น และอาจทำให้เกิดการเลิกจ้างได้
ยุธิษฐิระกล่าวว่า "สิ่งนี้อาจส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาส 4/2568" โดยเขาคาดว่า ภาษีศุลกากรชุดใหม่ของสหรัฐฯ ที่ระดับ 32% จะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกของอินโดนีเซียไปยังสหรัฐฯ ลดลง และอาจส่งผลเสียต่อการส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะภาคยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งทอ ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ลุกแมน เหลิง นักวิเคราะห์จากดู ไฟแนนเชียล ฟิวเจอร์ส (Doo Financial Futures) กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินรูเปียห์อยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักหลังจากมีการบังคับใช้ภาษีศุลกากรในเดือนเม.ย. โดย "อินโดนีเซียกำลังเผชิญกับภาษีศุลกากรสูงถึง 32% อีกทั้งค่าเงินรูเปียห์จะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) จำนวนมาก"
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ขณะเดียวกัน ดัชนีดอลลาร์สหรัฐมีความผันผวนหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศนโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ ซึ่งเข้มงวดกว่าที่คาดไว้ นอกจากนี้ ตลาดในปัจจุบันยังมีความเชื่อมั่นลดลงและพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยง
เหลิงจึงเสนอให้ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) เข้าแทรกแซงเพื่อป้องกันไม่ให้ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงมากกว่านี้
วิจายันโต ซามิริน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปารมาดินา (Paramadina) กล่าวว่า ภาษีศุลกากรจะเข้ามาบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5% ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น และนำไปสู่การเลิกจ้าง