สเตลแลนทิส (Stellantis NV) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ประกาศเมื่อวานนี้ (3 เม.ย.) ว่าจะเลิกจ้างพนักงาน 900 คนในโรงงาน 5 แห่งทั่วสหรัฐฯ เป็นการชั่วคราว (Temporary Layoff) พร้อมทั้งระงับการผลิตชั่วคราวที่โรงงานประกอบรถยนต์ในเม็กซิโกและแคนาดาอย่างละ 1 แห่ง โดยให้เหตุผลว่าได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้ารอบใหม่ของสหรัฐฯ ที่ประกาศโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ปธน.ทรัมป์ประกาศเมื่อวันพุธ (2 เม.ย.) ว่าจะขยายการเก็บภาษีศุลกากรในอัตราพื้นฐาน 10% กับสินค้านำเข้าทั้งหมด และอาจคิดอัตราสูงขึ้นสำหรับบางประเทศ นอกจากนี้ สัปดาห์ก่อนหน้าก็เพิ่งมีการประกาศเก็บภาษี 25% สำหรับรถยนต์นำเข้าทั้งหมด
อันโตนิโอ ฟิโลซา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของสเตลแลนทิสประจำทวีปอเมริกา ระบุในจดหมายถึงพนักงานว่า แม้บริษัทยังคงประเมินผลกระทบระยะกลางและระยะยาวจากภาษีเหล่านี้ แต่จำเป็นต้องดำเนินการบางอย่างทันที ซึ่งนำไปสู่การหยุดผลิตและส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในสหรัฐฯ
สำหรับการระงับการผลิตจะเกิดขึ้นที่โรงงาน Windsor Assembly ในแคนาดาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ กระทบพนักงานราว 4,500 คน และที่โรงงาน Toluca Assembly ในเม็กซิโก ตลอดเดือนเม.ย. ส่วนการเลิกจ้างชั่วคราวในสหรัฐฯ กระทบพนักงานที่โรงงาน Warren Stamping, Sterling Stamping, Indiana Transmission Plant, Kokomo Transmission Plant และ Kokomo Casting Plant
ผลกระทบดังกล่าวสะท้อนไปยังตลาดหุ้น โดยหุ้นของสเตลแลนทิส ซึ่งนำเข้ารถยนต์ราวครึ่งหนึ่งที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ปิดตลาดนิวยอร์กเมื่อวันพฤหัสบดีด้วยราคาที่ร่วงลง 9.3% ขณะที่หุ้นของคู่แข่งอย่างฟอร์ด (Ford), เจนเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors) และเทสลา (Tesla) ก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน
การประกาศเลิกจ้างชั่วคราวครั้งนี้เรียกเสียงวิจารณ์จากนักการเมืองและผู้นำสหภาพแรงงานทันที โดยชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครต กล่าวผ่านเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ว่า นี่คือผลลัพธ์อันน่าสะพรึงกลัวจากภาษีทรัมป์ ขณะที่ชอว์น เฟน ประธานสหภาพแรงงานยานยนต์ (UAW) ระบุว่า การตัดสินใจนี้ไม่จำเป็นอย่างสิ้นเชิง เพราะสเตลแลนทิสมีศักยภาพเพียงพอที่จะรักษาการจ้างงานไว้ได้
ลานา เพย์น ประธานสหภาพยูนิฟอร์ (Unifor) ของแคนาดา แถลงว่า ทรัมป์กำลังจะได้เรียนรู้บทเรียนราคาแพงว่า ระบบการผลิตในอเมริกาเหนือเชื่อมโยงกันเพียงใด และคนงานยานยนต์คือผู้ที่ต้องจ่ายสำหรับบทเรียนนั้น
อย่างไรก็ดี แคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า มาตรการภาษีนำเข้าจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมและแรงงานสหรัฐฯ ในระยะยาว และจะทำให้ตำแหน่งงานต่าง ๆ "กลับคืนสู่บ้านเกิด"
ทั้งนี้ ข้อมูลระบุว่าเกือบครึ่งหนึ่งของรถยนต์ที่จำหน่ายในสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้วเป็นรถนำเข้า และแม้ว่าข้อตกลงการค้าสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) จะยกเว้นภาษีสินค้าหลายรายการ แต่การนำเข้า-ส่งออกรถยนต์ยังคงอยู่ภายใต้นโยบายภาษีเฉพาะ ซึ่งสร้างความซับซ้อนในการตัดสินใจด้านการผลิตให้กับผู้ผลิตรถยนต์ที่ดำเนินงานครอบคลุมทั้งสามประเทศในอเมริกาเหนือ