ADB คาดมาตรการภาษีทรัมป์เสี่ยงทำเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกโตเพียง 4.9% ปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 9, 2025 09:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะขยายตัวเพียง 4.9% ในปี 2568 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2565 และคาดว่าจะมีการขยายตัว 4.7% ในปี 2569 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนด้านการค้าและการที่สหรัฐอเมริกาปรับขึ้นภาษีศุลกากร

ADB เปิดเผยรายงานแนวโน้มการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Outlook: ADO) ประจำเดือนเม.ย. 2568 ในวันนี้ (9 เม.ย.) โดยคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะยังคงอยู่ในระดับปานกลางที่ 2.3% ในปี 2568 และ 2.2% ในปี 2569 เนื่องจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ในตลาดโลกจะยังคงทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในภูมิภาคแห่งนี้ชะลอตัวลง

อัลเบิร์ต ปาร์ค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ADB ระบุในรายงานดังกล่าวว่า การคาดการณ์เศรษฐกิจสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งได้มีการสรุปก่อนที่สหรัฐฯ จะประกาศภาษีศุลกากรครั้งใหม่ในวันที่ 2 เม.ย.นั้น แสดงให้เห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย "ชะลอตัวลง" ในปีนี้และปีหน้า

ขณะเดียวกัน ปาร์คคาดการณ์ว่า ภูมิภาคแห่งนี้จะเผชิญความท้าทายจากอุปสรรคทางการค้าที่เพิ่มขึ้นและความไม่แน่นอนทางการค้าที่มีนัยสำคัญ แต่ก็คาดว่าอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งและการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ปาร์คได้เตือนถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเผชิญภาวะขาลง โดยกล่าวว่าการที่สหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการภาษีศุลกากรครั้งใหม่อย่างเต็มรูปแบบและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นนั้น อาจทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มตกอยู่ในภาวะชะงักงัน

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า มาซาโตะ คันดะ ประธาน ADB ระบุในรายงานดังกล่าวเช่นกันว่า "ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญกับภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อน ได้แก่ ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงนโยบาย และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์"

ทั้งนี้ ประธาน ADB กล่าวว่า การเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคให้แข็งแกร่งขึ้นนั้น ถือเป็น "สิ่งจำเป็น" เพื่อจัดการกับความเปราะบางที่เผชิญร่วมกัน เช่น ความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน ความมั่นคงด้านพลังงาน และภัยพิบัติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ