World Today: ประเด็นข่าวต่างประเทศน่าติดตามวันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 11, 2025 07:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นเอเชียเปิดลบในวันนี้ (11 เม.ย.) หลังจากนักลงทุนเทขายหุ้นอีกครั้งในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (10 เม.ย.) เนื่องจากความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งเป็นสองประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ส่งผลให้เกิดกระแสการเทขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยง

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศกลับลำด้านภาษีศุลกากรเมื่อวันพุธ (9 เม.ย.) โดยระงับการเก็บอัตราภาษีตอบโต้ใหม่จากประเทศส่วนใหญ่เป็นเวลา 90 วัน

-- ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่อาจมีการขยายเวลาระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ออกไปอีก หากครบกำหนดเวลา 90 วันที่เขาระบุไว้เมื่อวันพุธ (9 เม.ย.)

ปธน.ทรัมป์กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ถ้าเขาไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่เขาต้องการจากประเทศคู่ค้า อัตราภาษีก็จะกลับสู่ระดับที่เขาเคยประกาศไว้ทันทีที่ครบกำหนด 90 วัน

-- เจเน็ต เยลเลน อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวต่อสำนักข่าว CNN ว่า การประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ "ถือเป็นบาดแผลจากการทำร้ายตัวเองที่เลวร้ายที่สุดที่ดิฉันเคยเห็นมา" ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้บังคับใช้ต่อเศรษฐกิจที่กำลังไปได้ดี

เยลเลนกล่าวว่า แม้ว่านักลงทุนบางส่วนคลายความวิตก หลังจากที่ปธน.ทรัมป์ชะลอการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวออกไป 90 วัน แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักแล้ว ท่ามกลางภาวะตื่นตระหนกจากการประกาศมาตรการภาษีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

-- ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ขณะนี้สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีศุลกากรรวมทั้งหมดต่อสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 145%

เจ้าหน้าที่ระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศเพิ่มการเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากจีน สู่ระดับ 125% เมื่อวานนี้ แต่อัตราภาษีดังกล่าวยังไม่รวมกับที่ปธน.ทรัมป์เรียกเก็บภาษีในอัตรา 20% เพื่อลงโทษจีนที่ไม่ได้สกัดการไหลทะลักของยาเฟนทานิลเข้าสู่สหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ขณะนี้สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 145%

-- เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กล่าวว่า สหภาพยุโรป (EU) จะชะลอการใช้มาตรการตอบโต้การเรียกเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ออกไปอีก 90 วัน เพื่อเปิดทางสำหรับการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาทางการค้าของทั้งสองฝ่าย

การตัดสินใจดังกล่าวของ EU มีขึ้น หลังจากที่เมื่อวันพุธ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) เป็นเวลา 90 วัน ส่งผลให้มีการระงับการเรียกเก็บภาษี 20% ต่อสินค้านำเข้าจาก EU โดยมีการปรับลดลงมาเหลือเพียง 10% เป็นเวลา 90 วัน เช่นเดียวกับประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ยกเว้นจีน

-- ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.) ว่า สนธิสัญญาความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นที่ดำเนินมายาวนานหลายสิบปีนั้น "เป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรม" ขณะที่สหรัฐฯ และญี่ปุ่นเตรียมที่จะเจรจาข้อตกลงเกี่ยวกับภาษีศุลกากรของตน

ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "เราจ่ายเงินหลายแสนล้านดอลลาร์เพื่อปกป้องพวกเขา แต่...พวกเขาไม่จ่ายอะไรเลย หากเราถูกโจมตี พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพื่อปกป้องเรา" ทรัมป์กล่าวพร้อมประชดประชันว่า สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่ยอดเยี่ยม

-- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนมี.ค.เมื่อวานนี้ (10 เม.ย.)

ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.5% จากระดับ 2.8% ในเดือนก.พ.

-- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ลดลง 4,000 ราย สู่ระดับ 223,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 225,000 ราย

ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ทรงตัวที่ระดับ 223,000 ราย

-- นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนมิ.ย., ก.ค., ก.ย. และธ.ค. หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาด

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 82.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนพ.ค.

-- ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่จะเปิดเผยในวันนี้ (11 เม.ย.) ได้แก่ จีนเปิดเผยยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนเดือนมี.ค., เยอรมนีเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค., อังกฤษเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมถึงดุลการค้าเดือนก.พ., อินเดียเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค. และสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมี.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ