ญี่ปุ่นเตรียมยกเลิกการใช้งานเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เก่า 3 เครื่องตามกม.ควบคุมปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 17, 2015 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 2 แห่งในจังหวัดฟุกุอิ ประเทศญี่ปุ่น ได้ตัดสินใจยกเลิกการใช้งานเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เก่าจำนวน 3 เตาแล้ว ซึ่งถือเป็นการดำเนินการตามกฎเกณฑ์ของรัฐบาลปี 2556 เป็นครั้งแรก โดยเกณฑ์ดังกล่าวได้สั่งห้ามใช้งานเตาปฏิกรณ์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 40 ปี เนื่องจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยของประชาชน ภายหลังจากที่เกิดเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

บริษัท คันไซ อิเล็กทริก พาวเวอร์ ได้ลงมติในการประชุมคณะกรรมการบริหารว่า จะปลดประจำการเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และ 2 ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มิฮามะ ขณะที่บริษัท เจแปน ออโตมิก พาวเวอร์ จะยกเลิกการใช้งานเตาปฏิกรณ์หมายเลย 1 ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สึรูกะ

ขณะเดียวกัน บริษัท คันไซ ซึ่งตั้งอยู่ในโอซาก้า ก็คาดว่า จะเปิดเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องอื่นๆที่ใช้งานมาแล้วราวๆ 40 ปีอีกครั้ง ได้แก่ เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ในโรงไฟฟ้ามิฮามะ และเครื่องหมายเลข 1 และ 2 ในโรงไฟฟ้าทากาฮามะในจังหวัดฟุกุอิ ภายหลังจากที่ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลด้านนิวเคลียร์แห่งประเทศญี่ปุ่น (NRA) ให้มาตรวจสอบเครื่องปฏิกรณ์เพื่อความเหมาะสมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายมาโกโตะ ยากิ ประธานบริษัทคันไซ กล่าวกับนายอิสเซอิ นิชิกาวา ผู้ว่าการจังหวัดฟุกุอิว่า บริษัทวางแผนที่จะยกเลิกการใช้งานเตาปฏิกรณ์ที่โรงงานมิฮามะจำนวน 2 เครื่อง

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าว ซึ่งบัญญัติขึ้นหลังจากที่เกิดเหตุระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เมื่อเดือนมีนาคม 2554 ถือเป็นการสั่งห้ามใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใช้งานมานานกว่า 40 ปี แต่อาจได้รับการยกเว้นในกรณีที่ใช้งานเกิน 20 ปีหากมีการเพิ่มสมรรถภาพด้านความปลอดภัย และผ่านการตรวจสอบจาก NRA


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ