IEA ชี้แม้กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันบรรลุข้อตกลง 17 เม.ย. จะส่งผลต่อตลาดไม่มาก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 14, 2016 21:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุว่า ถึงแม้การประชุมระหว่างกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 17 เม.ย.จะสามารถบรรลุข้อตกลงตรึงกำลังการผลิตน้ำมัน แต่สิ่งนี้จะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อปริมาณน้ำมันในตลาดโลก และตลาดจะยังคงไม่เข้าสู่ภาวะสมดุลด้านอุปสงค์และอุปทานจนกว่าจะถึงปี 2017

"ถ้าหากที่ประชุมตกลงกันแค่การคงกำลังการผลิต ไม่ใช่การปรับลดการผลิต สิ่งนี้ก็จะส่งผลกระทบเพียงจำกัดต่อปริมาณน้ำมันในตลาด" IEA ระบุ

"ขณะที่ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซียกำลังผลิตน้ำมันที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และอิหร่านทำการเพิ่มกำลังการผลิต การบรรลุข้อตกลงใดๆ จะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อดุลอุปสงค์-อุปทานในช่วงครึ่งแรกของปีนี้"

IEA ระบุว่า แม้ว่าสหรัฐได้ลดการผลิตน้ำมัน และอิหร่านไม่ได้เพิ่มกำลังการผลิตมากอย่างที่คาดการณ์กันไว้ แต่การผลิตน้ำมันของโลกยังคงจะอยู่สูงกว่าการบริโภคตลอดทั้งปีนี้

IEA คาดการณ์ว่าสต็อกน้ำมันโลกจะเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล/วันในช่วงครึ่งปีแรกนี้ และชะลอตัวสู่ระดับ 0.2 ล้านบาร์เรล/วันในครึ่งปีหลัง

นอกจากนี้ IEA ระบุว่า การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะยังคงอ่อนตัวลงต่อไปในปีนี้

ทั้งนี้ IEA ระบุในรายงานประจำเดือนเม.ย.ในวันนี้ว่า การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะลดลงสู่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ ต่ำกว่าระดับ 1.8 ล้านบาร์เรล/วันของปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในจีน, สหรัฐ และยุโรป

IEA ชี้ว่า การชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศดังกล่าวเกิดจากกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมที่เบาบางลง และสภาพอากาศที่อบอุ่นในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมาในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ขณะที่จีนผลักดันให้การบริโภคเป็นปัจจัยผลักดันการขยายตัว แทนที่ภาคการผลิต

อย่างไรก็ดี IEA เปิดเผยว่า อินเดียจะขึ้นมาแทนที่จีนในฐานะตัวจักรหนุนการเติบโตของอุปสงค์น้ำมัน โดย IEA เปิดเผยว่า อุปสงค์น้ำมันของอินเดียในช่วงปลายปีที่แล้ว และต้นปีนี้มีการขยายตัว 8% เมื่อเทียบรายปี ขณะที่ตลอดทั้งปีนี้ อินเดียจะมีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นราว 300,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ IEA ยังเปิดเผยว่า การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกได้ลดลงในเดือนมี.ค.สู่ระดับ 32.47 ล้านบาร์เรล/วัน โดยได้รับผลกระทบจากการผลิตที่ลดลงในไนจีเรีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรทส์ และอิรัก แม้ว่าอิหร่านและอังโกลามีการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ