(เพิ่มเติม) ฟิทช์คาดอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีไทยยังคงมีผลประกอบการแข็งแกร่งปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 25, 2016 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีไทยจะยังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งในปี 2559 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจะช่วยหนุนความต้องการน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่า กำไรที่จะได้นั้นอาจชะลอตัวลงจากเมื่อปี 2558 หลังมีการเพิ่มกำลังผลิต ประกอบกับแรงกดดันที่ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภท middle distillate

ฟิทช์ เปิดเผยว่า ความต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่นในไทย ซึ่งสามารถทำกำไรได้ดีกว่าส่งออกนั้น ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง จนส่งผลให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น โดยปริมาณการใช้น้ำมันกลั่นในไทยปรับตัวสูงขึ้น 4% เทียบรายปีในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากน้ำมันเชื้อเพลิง (เพิ่มขึ้น 30% เทียบรายปี) น้ำมันเบนซิน (เพิ่มขึ้น 12% เทียบรายปี) น้ำมันดีเซลและน้ำมันเครื่องบินเจ็ท (เพิ่มขึ้น 6% เทียบรายปี) อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมปรับตัวลดลงประมาณ 16% เทียบรายปี

ส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี 2559 สนับสนุนจากส่วนต่างราคาที่สูงขึ้นของผลิตภัณฑ์โพลิเอทิลีน และผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ โดยส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์โพลิเอทิลีนกับแนฟทาเพิ่มขึ้นเป็น 760-780 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในไตรมาสแรกของปี 2559 (ไตรมาสแรกของปี 2558: 700-720 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) ในขณะที่ส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์พาราไซลีนกับแนฟทาเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 390 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน (ไตรมาสแรกของปี 2558: 330 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน)

ฟิทช์คาดว่าส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของไทยจะยังคงแข็งแกร่งในปี 2559 โดยผู้ผลิตมีการรายงานส่วนต่างราคาที่สูงขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2559 อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาน่าจะกดดันส่วนต่างราคาของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในช่วงเวลาที่เหลือของปี

ค่าการกลั่นที่ไม่รวมกำไรและขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันของโรงกลั่นน้ำมันของไทย ลดลงในไตรมาสแรกของปี 2559 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยค่าการกลั่นที่ลดลงนี้เป็นผลมาจากการลดลงของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปชนิดกลาง (ซึ่งได้แก่น้ำมันดีเซล) กับน้ำมันดิบ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอุปทานที่มีมากเกินความต้องการจากประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ค่าการกลั่นก็มีส่วนที่ถูกชดเชยด้วยส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันเตากับน้ำมันดิบที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

โรงกลั่นน้ำมันและบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของไทยที่ฟิทช์จัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ ได้รายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งในไตรมาสแรกของปี 2559 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2558 ซึ่งเป็นผลมาจากส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับวัตถุดิบที่แข็งแกร่งและผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันที่ลดลง โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) ในไตรมาสแรกของปี 2559 ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิตภายในประเทศ AA(tha)/Stable) เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กำไรดังกล่าวของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิตในประเทศ AA-(tha)/Stable) เพิ่มขึ้น 48% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

EBITDAR ของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิตในประเทศ A-(tha)/Negative) เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจากฐานที่ต่ำในไตรมาสแรกของปี 2558 โดยบริษัทบันทึกผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันในไตรมาสแรกของปี 2558 ที่สูงกว่ามาก เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2559 บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ตั๋วแลกเงิน: F1(tha)) ก็มีการเพิ่มขึ้นของ EBITDAR เป็นอย่างมากในไตรมาสแรกของปี 2559 จากฐานที่ต่ำในไตรมาสแรกของปี 2558 เช่นเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ