องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดเผยว่า การลงทุนในยูโรโซนยังคงอยู่ห่างไกลจากระดับในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการเงิน โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาในภาคธนาคาร อาทิ หนี้เสียที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้ธนาคารไม่เต็มใจที่จะปล่อยกู้
OECD ระบุว่า ปัญหาเดิมๆในภูมิภาคยังไม่ได้รับการแก้ไข ขณะเดียวกันก็มีปัญหาใหม่ๆเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี OECD ระบุด้วยว่า ยุโรปมีความก้าวหน้าที่สำคัญในการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ทั้งนี้ เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวต่อเนื่องมาสามปีแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางยุโรปที่แปลกไปจากเดิม เช่น การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือแม้แต่ติดลบ และการผ่อนคลายเชิงปริมาณ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การขยายตัวนั้นยังไม่แข็งแกร่ง
สำหรับสาเหตุที่ทำให้การลงทุนในยุโรปยังคงต่ำกว่าระดับในปี 2550 อยู่มากนั้น ได้แก่ อุปสงค์ที่อ่อนแอทำให้ภาคธุรกิจลังเลที่จะลงทุน ประกอบกับปัจจัยด้านการเงิน โดยในบางประเทศ เช่น กรีซ และอิตาลี ภาคธุรกิจยังคงแบกรับหนี้ในระดับสูง ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็เผชิญกับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือหนี้เสียในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารไม่ยอมอนุมัติปล่อยเงินกู้ใหม่