สำนักข่าวเกียวโดรายงานโดยอ้างเอกสารทางการทูตของญี่ปุ่นสมัยมหันตภัยนิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ซึ่งเพิ่งมีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการในวันนี้ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจงใจไม่กล่าวถึงประเด็นความวิตกเกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ในการประชุมสุดยอด G7 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพเพียงไม่กี่วันหลังเกิดอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลปี 2529 ด้วยเหตุผลว่าขณะนั้นญี่ปุ่นต้องการเดินหน้านโยบายพลังงานนิวเคลียร์
เอกสารดังกล่าวบ่งชี้ว่า ประเด็นเรื่อง "กัมมันตภาพรังสี" และ "ความวิตก" เกี่ยวกับภัยพิบัตินิวเคลียร์โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศยูเครนนั้น ถูกลบออกไปจากแถลงการณ์ G7 ฉบับร่าง โดยแถลงการณ์ฉบับสุดท้ายกลับระบุว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็น "แหล่งพลังงานที่จะมีการนำไปใช้มากขึ้นในอนาคต"
เอกสารที่ว่านี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามโน้มน้าวให้ทั่วโลกเห็นด้วยกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ต่อไป แม้ขณะนั้นยังมีข้อมูลไม่มากนักเกี่ยวกับสาเหตุของมหันตภัยนิวเคลียร์เชอร์โนบิล หรือระดับความเสียหายที่เกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นจึงพลาดโอกาสในการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนเกี่ยวกับการยกระดับมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัย และได้เดินหน้านโยบายพลังงานนิวเคลียร์ของตนต่อไป จนกระทั่งเกิดภัยพิบัติขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะเมื่อเดือนมีนาคม 2554 อันเป็นผลจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งรุนแรง เหตุการณ์ดังกล่าวได้เปิดโปงสิ่งที่คณะผู้ตรวจสอบและเจ้าหน้าที่รายอื่นๆที่รัฐบาลแต่งตั้งนั้นระบุไว้ว่าเป็น "ความเชื่อด้านความปลอดภัย"
เจ้าหน้าที่รายหนึ่งในสังกัดกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งมีส่วนร่วมในการประชุมสุดยอด G7 ในสมัยนั้น ระบุว่า "รัฐบาลหรืออุตสาหกรรมนิวเคลียร์ไม่ได้มีความตระหนักเลยว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นเองก็อาจเป็นอันตรายเช่นกัน และไม่ได้เรียนรู้สิ่งใดจากมหันตภัยนิวเคลียร์เชอร์โนบิลด้วย"