นายจิฮัด อาซูร์ ผู้อำนวยการแผนกตะวันออกกลางและเอเชียกลางประจำกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอิหร่านจะหดตัวลง 6% ในปีนี้ โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ปรับตัวลดลงไป 3.9% ขณะที่เงินเฟ้ออาจพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงถึง 40% เพราะได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐยังเดินหน้าใช้มาตรการกดดันอิหร่าน
อย่างไรก็ดี ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้นก่อนสหรัฐตัดสินใจยกเลิกผ่อนผัน 8 ประเทศนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังนายไบรอัน ฮุก ผู้แทนพิเศษของสหรัฐสำหรับอิหร่าน และที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเปิดเผยว่า การคว่ำบาตรของสหรัฐต่ออิหร่าน ทำให้รัฐบาลอิหร่านสูญเสียรายได้มากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์แล้ว นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ประกาศคว่ำบาตรอิหร่านครั้งแรกในเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว
นายฮุกเปิดเผยหลังรัฐบาลสหรัฐระบุว่า จะยกเลิกการยกเว้นในมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด โดยสหรัฐเรียกร้องให้บรรดาผู้นำเข้า ยุติการซื้อน้ำมันจากอิหร่านตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้ มิฉะนั้น จะเผชิญกับมาตรการลงโทษ
นายฮุกระบุว่า ก่อนถูกคว่ำบาตรนั้น อิหร่านมีรายได้มากถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีจากการขายน้ำมัน และประมาณการว่า มาตรการคว่ำบาตรของเราทำให้อิหร่านสูญเสียรายได้มากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์แล้วนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2561
ทั้งนี้ สหรัฐได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่านอีกครั้งในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากปธน.ทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงปี 2558 ระหว่างอิหร่านกับมหาอำนาจของโลก 6 ชาติ ในฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้ว เพื่อสกัดกั้นโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน แต่ในช่วงแรกนั้น สหรัฐได้อนุญาตให้ผู้ซื้อน้ำมันอิหร่านรายใหญ่ที่สุด 8 ประเทศ สามารถนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านได้อีกครึ่งปี
จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และตุรกี เป็นผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของอิหร่าน ขณะที่ไต้หวัน กรีซ และอิตาลี ได้ยุติการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน แม้ได้รับการยกเว้นจากการคว่ำบาตรของสหรัฐก็ตาม
ส่วนจีนเป็นผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของอิหร่าน และได้วิพากษ์วิจารณ์การกำหนดมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ของสหรัฐ ขณะที่บรรดาเจ้าหน้าที่สหรัฐแสดงความเชื่อมั่นว่า จีนจะสามารถหาทางนำเข้าน้ำมันจากที่อื่นๆ แทนอิหร่านได้