หัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีนร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในวงการพลังงานแสงอาทิตย์เปิดเผย 10 เทรนด์ที่น่าสนใจในแวดวงเซลล์แสงอาทิตย์อัจฉริยะในปี 2568 แบ่งออกเป็น 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ (LCOE), โรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การหลอมรวมอัจฉริยะ ตลอดจนเรื่องของความมั่นคงและความซื่อสัตย์ โดยเทรนด์เหล่านี้มีจุดมุ่งหมายที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปสู่ระบบอัจฉริยะและโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมมอบความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับนวัตกรรมและการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอุตสาหกรรมพลังงานใหม่
สำหรับ 10 เทรนด์มาแรงที่คาดว่า จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2568 ประกอบด้วย
เทรนด์ที่ 1: การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
แม้ตลาดเซลล์แสงอาทิตย์ทั่วโลกจะเติบโตมากขึ้น แต่เครื่องมือที่ใช้ในโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ยังไม่มีความก้าวล้ำมากพอ ตั้งแต่อุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าไปจนถึงการสื่อสาร โดยอุปกรณ์เหล่านี้ยังคงไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร อีกทั้งยังอาจแสดงผลลัพธ์ที่ผิดพลาดออกมาได้ ดังนั้น ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างระบบ 5G และคลาวด์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวโน้มว่าโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์กว่า 90% ทั่วโลกจะเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มตัวภายในปี 2568 ซึ่งจะส่งผลให้การบริหารโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์มีความสะดวก ฉลาด และมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
เทรนด์ที่ 2: ยกระดับความอัจฉริยะด้วย AI
การนำ AI เข้ามาใช้กับเซลล์แสงอาทิตย์จะช่วยทำให้การทำงานของระบบตรวจจับและการเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างอุปกรณ์เป็นไปอย่างราบรื่น และจะช่วยยกระดับการผลิตพลังงานและประสิทธิภาพของ O&M อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ เทคโนโลยี AI ยังมอบวิธีการทำงานใหม่ ๆ ให้กับระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ประกอบด้วย การป้องกันโมดูลและระบุความผิดพลาดของเครื่องมือด้วยอัลกอริทึมการวิเคราะห์จาก AI, การติดตามการใช้งานอัลกอริทึมอย่างเหมาะสมด้วยข้อมูลมหาศาลและระบบการเรียนรู้ด้วยตัวเองเพื่อมอบผลตอบแทนที่มากขึ้น และการประสานงานกันของระบบจัดเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย AI เพื่อสร้างรายได้สูงสุดให้กับโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ ทั้งนี้ ด้วยความที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ลดลง ขณะที่ความซับซ้อนของ O&M มากขึ้น ผู้ประกอบการจึงมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้เทคโนโลยี AI กันมากขึ้นในอนาคต
เทรนด์ที่ 3: โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ไร้มนุษย์
ด้วยความสามารถของ AI และ IoT (Internet of Things) ผลิตภัณฑ์และบริการอัจฉริยะจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับระบบการทำงานของเซลล์แสงอาทิตย์ทั้งหมด ด้วยการผสานรวมประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญเข้ากับกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง โรงไฟฟ้าต่าง ๆ จึงมีแนวโน้มที่จะใช้ AI มาแทนที่ผู้เชี่ยวชาญด้าน O&M ในแง่ของการวิเคราะห์และการตัดสินใจ ส่วนโดรนสำรวจและหุ่นยนต์ O&M จะรับหน้าที่ดูแลงานที่อันตรายหรืองานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความแม่นยำสูงเพื่อยกระดับผลิตภาพและความปลอดภัยในโรงไฟฟ้า โดยหัวเว่ยคาดการณ์ว่า โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ในอนาคตจะไม่มีมนุษย์ทำงานเลย
เทรนด์ที่ 4: สนับสนุนโรงงานไฟฟ้าอย่างเต็มกำลัง
การเพิ่มขึ้นของพลังงานแบบ power-electronic-interfaced จะเข้ามาตีตลาดโรงงานไฟฟ้า และขัดขวางไม่ให้ผู้คนใช้งานระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในวงกว้าง ด้วยเหตุนี้ ในอีก 5 ปีข้างหน้า โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์จึงต้องเปลี่ยนตัวเองจากที่เคยปรับตัวตามโรงงานไฟฟ้า ให้กลายมาเป็นผู้สนับสนุนโรงงานไฟฟ้า ด้วยเหตุนี้ อินเวอร์เตอร์จึงต้องขยับขีดความสามารถ อาทิ เพิ่มความสามารถในการปรับอัตราส่วนลัดวงจร (SCR), ความสามารถในการควบคุมกระแสฮาร์มอนิกให้อยู่ในระดับไม่เกิน 1%, ความสามารถในการทนต่อสภาวะแรงดันสูง/ต่ำอย่างต่อเนื่อง และรักษาความถี่ของไฟฟ้าให้อยู่ในเกณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในการเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้า
เทรนด์ที่ 5: เซลล์แสงอาทิตย์ + การจัดเก็บ
การเข้าถึงแหล่งพลังงานใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น จะทำให้กริดพลังงานมีข้อกำหนดที่เข้มงวดขึ้นสำหรับการควบคุมความถี่และลดความต้องการกำลังไฟฟ้าสูงสุด ในขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็จะทำให้แบตเตอรี่มีราคาถูกลง จึงคาดการณ์ได้ว่า การกักเก็บพลังงานจะทำงานสอดคล้องกับระบบเซลล์แสงอาทิตย์และกลายมาเป็นส่วนประกอบสำคัญ โดยคาดว่าภายในปี 2568 สัดส่วนของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่มาคู่กับการกักเก็บพลังงานจะมีมากกว่า 30%
เทรนด์ที่ 6: โรงไฟฟ้าเสมือน
ใน 5 ปีข้างหน้า จะมีการนำเทคโนโลยี ICT เช่น 5G บล็อกเชน และบริการคลาวด์ไปใช้กันอย่างกว้างขวางในโรงไฟฟ้าที่กระจายอยู่ทั่วไป จึงต้องมีการสร้าง VPP ขึ้นมาเพื่อดูแลการบริหารจัดการร่วมกัน และช่วยกันกำหนดในเรื่องเวลา การทำธุรกรรม และบริการเสริมสำหรับระบบพลังงาน นอกจากนี้ การพัฒนาขึ้นของเทคโนโลยี VPP ยังจะก่อให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ และดึงดูดผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่ตลาดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะกลายมาเป็นกลไกการเติบโตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต่อไป
เทรนด์ที่ 7: ความปลอดภัยในการใช้งาน
การใช้งานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทำให้ความปลอดภัยของตัวอาคารและบุคคลถูกยกมาประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของอาร์กเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีความเสี่ยงจากสัมผัสของโหนดในโมดูลเซลล์แสงอาทิตย์ที่ไม่ดีจากขั้วเซลล์แสงอาทิตย์ รวมถึงการชำรุดแตกหักของสายเคเบิลที่เก่าหรือไม่พร้อมใช้งาน ซึ่งได้กลายเป็นความกังวลสำคัญในอุตสาหกรรม ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว AFCI จึงจะเข้ามาเป็นฟังก์ชันมาตรฐานสำหรับระบบไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา และจะกลายเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมระหว่างประเทศต่อไป
เทรนด์ที่ 8: ความหนาแน่นของพลังงานที่สูงกว่าเดิม
ด้วยแนวโน้มการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยไฟฟ้าปรับเฉลี่ย (LCOE) ของเซลล์แสงอาทิตย์ ทำให้โมดูลเดี่ยวมีความต้องการพลังงานที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันการซ่อมบำรุงอินเวอร์เตอร์ก็ควรที่จะง่ายขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้เป็นไปตามนั้น พลังงานจึงจำเป็นที่จะต้องถูกพัฒนาให้มีความหนาแน่นมากขึ้น โดยอาศัยความก้าวหน้าในการวิจัยเซมิคอนดักเตอร์แบบ wide-bandgap เช่น SiC และ GaN รวมถึงอัลกอริทึมการควบคุมชั้นสูง ซึ่งคาดว่า จะทำให้อินเวอร์เตอร์มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นกว่า 50% ใน 5 ปีข้างหน้า
เทรนด์ที่ 9: ดีไซน์แบบแยกส่วน
อินเวอร์เตอร์, PCS และอุปกรณ์กักเก็บพลังงานเป็นส่วนประกอบสำคัญในโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีผลต่อความพร้อมใช้งานของระบบโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์เป็นอย่างมาก แต่ด้วยความที่โรงไฟฟ้ามีกำลังผลิตและความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น การบำรุงรักษาแบบเดิมที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินการเลยต้องอาศัยค่าใช้จ่ายจำนวนมาก จึงทำให้การออกแบบโมดูลให้สามารถแยกส่วนได้กลายมาเป็นที่นิยม เนื่องจากมีความยืดหยุ่นในการติดตั้ง สามารถขยายได้อย่างราบรื่น และบำรุงรักษาได้โดยไม่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทั้งในแง่ของการดำเนินงาน, การบำรุงรักษา (O&M) และการปรับปรุงระบบเดิมให้ดีขึ้น
เทรนด์ที่ 10: ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ
การเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ทั่วโลก และความซับซ้อนของสถาปัตยกรรมเครือข่ายที่มากขึ้น ได้เข้าไปเพิ่มความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของเครือข่ายของโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ ในขณะเดียวกัน ก็มีข้อกำหนดที่เข้มงวดขึ้นในส่วนของความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ใช้งานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่กระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ เทรนด์เหล่านี้จึงชี้ให้เห็นว่า โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์จะต้องมีความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือในแง่ของความไว้วางใจ, ความพร้อมใช้งาน ความปลอดภัย, ความยืดหยุ่น และความเป็นส่วนตัวมากขึ้นกว่าเดิม