หน่วยงานด้านสาธารณสุขของเนเธอร์แลนด์เปิดเผยว่า ระดับของกัมมันตภาพรังสีในชั้นบรรยากาศของยุโรปตอนเหนือได้พุ่งขึ้นอย่างมาก และมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า อาจจะเกิดจากปัญหาของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในภาคตะวันตกของรัสเซีย
อย่างไรก็ดี บริษัท Rosenergoatom ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของรัสเซียได้ออกมาปฏิเสธรายงานดังกล่าว โดยระบุว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของบริษัทในเมืองโกลา และเลนินกราด ไม่ได้ประสบปัญหาแต่อย่างใด
หน่วยงานหลายแห่งในภูมิภาคสแกนดิเนเวียได้ทำการตรวจสอบระดับของนิวไคลด์กัมมันตรังสี (radionuclide) หรือไอโซโทปกัมมันตรังสี (radioactive isotope) โดยนิวไคลด์กัมมันตรังสีนั้นคืออะตอมที่มีนิวเคลียสไม่เสถียร และมีพลังงานสูงมากจนสามารถสร้างอนุภาคกัมมันตรังสีขึ้นใหม่ภายในนิวเคลียสได้
เลสซินา เซอร์โบ เลขาธิการบริหารขององค์กรสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty Organization) เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ว่า ความเข้มข้นของนิวไคลด์กัมมันตรังสีซีเซียม-134, ซีเซียม-137 และรูเธเนียม-103 ได้เพิ่มขึ้นในพื้นที่บางส่วนของฟินแลนด์, พื้นที่ตอนใต้ของสแกนดิเนเวีย และอาร์กติก ซึ่งแม้ว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่นิวไคลด์กัมมันตรังสีเหล่านี้จะทำให้เกิดการแตกตัวของนิวเคลียส
การเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันของกัมมันตภาพรังสีในครั้งนี้ มีลักษณะคล้ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังเหตุระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ซึ่งถือเป็นหายนะด้านนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยภายในระยะเวลาไม่กี่วันหลังเกิดหายนะดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1986 นั้น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งหนึ่งในสวีเดนสามารถตรวจจับระดับของกัมตภาพรังสีที่สูงขึ้นอย่างมากได้
หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์รายงานว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ได้เกิดเมฆลึกลับคล้ายกัมมันตภาพรังสีลอยอยู่เหนือน่านฟ้ายุโรปและถูกระบุว่าเกี่ยวข้องกับรัสเซีย โดยในปี 2560 ได้มีการตรวจพบแร่รูเธเนียม-106 มากกว่าระดับปกติ 1,000 เท่าเหนือน่านฟ้ายุโรป แต่รัสเซียปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุการณ์ดังกล่าว แม้โรงงานนิวเคลียร์แห่งหนึ่งในรัสเซียถูกตั้งข้อสงสัยอย่างมากก็ตาม