ดีมานด์สดใสหนุนอุตฯพลังงานโซลาร์สหรัฐขยายตัวแกร่งสุดในปี 63

ข่าวต่างประเทศ Tuesday March 16, 2021 13:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ข้อมูลล่าสุดจากสมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐ (SEIA) และ Wood Mackenize ระบุว่า อุตสาหกรรมพลังงานโซลาร์ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2563 โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่รัฐบาลออกนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งความต้องการที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีหลัง แม้สหรัฐเผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ตาม

ข้อมูลดังกล่าวระบุว่า ยอดการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐช่วงปี 2563 ขยายตัว 43% โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 19.2 กิกกะวัตต์ และเฉพาะในไตรมาส 4/2563 เพียงไตรมาสเดียวนั้น ยอดการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมมากกว่า 8 กิกกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นตัวเลขรายไตรมาสที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

รายงานระบุว่า รัฐแคลิฟอร์เนีย เท็กซัส และฟลอริดา เป็น 3 รัฐที่มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุดในช่วงครึ่งหลังของปี 2563

นอกจากนี้ SEIA และ Wood Mackenize คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลกจะขยายตัวต่อเนื่องไปจนถึงปี 2573 และคาดว่า ภายในสิ้นทศวรรษนี้ ตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐจะขยายตัวแข็งแกร่งถึง 4 เท่าจากระดับปัจจุบัน

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดยบรรดาผู้จัดการกองทุนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึง LyGH Capital, Pinpoint Asset Management, Sylebra Capital และ Zaaba Capital ต่างก็ให้ความสนใจเข้าลงทุนในหุ้นของบริษัทด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่มีการเข้าลงทุนมากที่สุดในปี 2563 และทำให้กองทุนในเอเชียดังกล่าวสามารถให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนได้สูงกว่าระดับเฉลี่ย 9.5% ของกองทุนทั่วโลก

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างพากันเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากเชื่อว่าพลังงานชนิดนี้มีศักยภาพในการแข่งขัน ประกอบกับการที่ประเทศต่างๆ รวมถึงจีนได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินการมากขึ้นเพื่อลดปัญหาโลกร้อน

ในช่วงกลางเดือนก.ย. 2563 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ได้ให้คำมั่นสัญญากลางเวทีประชุมของสหประชาชาติว่า จีนจะบรรลุเป้าหมายในการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ (CO2) ลงเป็นศูนย์ให้ได้ก่อนปี 2603 พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมกันผลักดันการพัฒนาที่มีนวัตกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเปิดกว้าง โดยใช้โอกาสครั้งประวัติศาสตร์จากการปฎิวัติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรอบใหม่ และการเปลี่ยนแปลงด้านอุตสาหกรรม รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหลังยุคโควิด-19

นักวิจัยของกลุ่ม Climate Action Tracker (CAT) กล่าวว่า คำมั่นสัญญาของผู้นำจีนถือเป็นการผลักดันนโยบายลดโลกร้อนที่มีความสำคัญมากที่สุดในรอบหลายปี และหากจีนสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ก็จะช่วยให้ความร้อนทั่วโลก ลดลงราว 0.2-0.3 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้ โดยการเปลี่ยนแปลงของจีนจากสถานะผู้ก่อมลพิษรายที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น อาจจะต้องใช้เงินลงทุนถึง 15 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ