รัฐบาลสหรัฐประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง หลังจากท่อส่งน้ำมันของบริษัทโคโลเนียล ไปป์ไลน์ ซึ่งเป็นท่อส่งน้ำมันขนาดใหญ่ของสหรัฐ ถูกโจมตีด้วย ransomware หรือมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ซึ่งทำให้ลำเลียงน้ำมันผ่านท่อส่งดังกล่าวต้องหยุดชะงักลง
ท่อส่งน้ำมันโคโลเนียล ไปป์ไลน์ ขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงในปริมาณ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 45% ของปริมาณการใช้น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน และเชื้อเพลิงอากาศยานในฝั่งตะวันออกของสหรัฐ แต่ระบบขนส่งน้ำมันของบริษัทต้องหยุดชะงักลงตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (7 พ.ค.) เนื่องจากถูกอาชญากรไซเบอร์โจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่
การประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นการช่วยคลายข้อจำกัดด้านการขนส่งน้ำมันทางบก อีกทั้งช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปิดท่อส่งน้ำมันของบริษัทโคโลเนียล ไปป์ไลน์ หลังถูกโจมตีทางไซเบอร์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
ทางด้านกระทรวงคมนาคมของสหรัฐแถลงว่า "การประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งนี้มีขึ้นเพื่อรับมือกับเหตุการณ์เร่งด่วนที่จำเป็นต่อการขนส่งน้ำมันเบนซิน, น้ำมันดีเซล, เชื้อเพลิงเครื่องบิน และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกลั่นอื่นๆโดยทันที รวมถึงเพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย"
ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นหลังรัฐบาลสหรัฐประสบความยากลำบากในการแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปิดท่อส่งน้ำมันของบริษัทโคโลเนียล ไปป์ไลน์ โดยท่อส่งดังกล่าวมีการขนส่งน้ำมันอยู่ที่ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากโรงกลั่นบริเวณชายฝั่งกัลฟ์โคสต์เพื่อส่งไปยังเมืองแอตแลนต้า, วอชิงตัน และนิวยอร์ก
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีส่วนในการสอบสวนกรณีท่อส่งน้ำมันของบริษัท ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นฝีมือของกลุ่มอาชญากรที่มีชื่อว่า ดาร์กไซด์ (DarkSide) ซึ่งจะปฏิบัติการเลียนแบบตัวละครโรบินฮู้ดด้วยการขโมยเงินจากบริษัทต่าง ๆ และแบ่งให้กับองค์กรการกุศล โดยกลุ่มดาร์กไซด์เป็นหนึ่งในอาชญากรที่เชี่ยวชาญในการใช้ ransomware หรือมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ซึ่งเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีชาติตะวันตกหลายชาติ รวมมูลค่าความเสียหายแล้วกว่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา