นักวิเคราะห์จากบริษัทน้ำมัน FGE, Rystad Energy และ Energy Aspects เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การนำเข้าน้ำมันดิบของจีนอาจฟื้นตัว 6?7% ในปีนี้ หลังจากลดลงในปี 2564 เนื่องจากบรรดาผู้ซื้อได้เพิ่มการนำเข้าสำหรับการเปิดโรงกลั่นใหม่ และเพื่อเพิ่มสต็อกที่อยู่ในระดับต่ำ
อุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากจีนซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 10 ของการค้าน้ำมันดิบทั่วโลก จะช่วยหนุนราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยทำให้อุปทานตึงตัวอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบจะพุ่งแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหรือมากกว่านั้น
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดว่า อุปสงค์น้ำมันดิบไม่น่าจะฟื้นตัวไปจนถึงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากจีนยังคงต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง และบริษัทกลั่นน้ำมันขนาดเล็กจำกัดการผลิต
สำหรับปี 2565 การนำเข้าน้ำมันดิบของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 600,000?700,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งชดเชยการลดลง 590,000 บาร์เรลต่อวันในปีที่ผ่านมา โดยจะสอดคล้องหรือมากกว่าปริมาณที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 10.85 ล้านบาร์เรลต่อวันของปี 2563
ทั้งนี้ จีนนำเข้าน้ำมันดิบรายปีลดลงในปี 2564 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2544
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และ West Texas Intermediate (WTI) แตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีใกล้ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว เนื่องจากนักลงทุนมองข้ามผลกระทบด้านอุปสงค์ที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน
"เราคาดการณ์ว่าโรงกลั่นของจีนจะกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 500,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งหลัก ๆ แล้วเป็นเพราะโรงกลั่นใหม่เตรียมเริ่มดำเนินการกลั่นน้ำมันในปี 2565 และการฟื้นตัวของเชื้อเพลิงด้านการขนส่งและการบินมีแนวโน้มเร็วขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง"
ข้อมูลของ Refinitiv แสดงให้เห็นว่า จีนนำเข้าน้ำมันดิบรวมทั้งสิ้น 41.13 ล้านตัน (9.69 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ในเดือนม.ค. ซึ่งต่ำกว่า 44.6 ล้านตันในเดือนม.ค. 2564 และ 46.1 ล้านตันเมื่อ 2 ปีก่อน
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ แผนอนุรักษ์พลังงานและลดการปล่อยมลพิษระยะ 5 ปีของคณะมนตรีจีนระบุว่า จีนจะควบคุมการอุปโภคพลังงานโดยรวมอย่างเหมาะสมและลดการอุปโภคพลังงานต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ 13.5% ภายในปี 2568 เมื่อเทียบกับระดับของปี 2563 เพื่อวางรากฐานอันแข็งแกร่งสำหรับการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์