ประเทศสมาชิกบางชาติในกลุ่ม G7 กำลังเร่งผลักดันให้เกิดการยอมรับถึงความจำเป็นในการจัดสรรงบประมาณก้อนใหม่เพื่อลงทุนในพลังงานฟอสซิล หลังจากที่ยุโรปประสบปัญหาในการแสวงหาแหล่งพลังงานอื่น
ทั้งนี้ คณะผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมประจำปีของกลุ่ม G7 กำลังหารือว่า จะมีแนวทางใดที่ช่วยให้บางประเทศซึ่งเคยให้คำมั่นในการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 สามารถดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันได้หรือไม่ เนื่องจากมีบางประเทศได้ระงับการให้เงินสนับสนุนการลงทุนในโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลระหว่างประเทศหลังสิ้นสุดปี 2565
เจ้าหน้าที่การทูตรายหนึ่งของ EU เผยว่า "มีความเป็นไปได้ที่จะหาวิธีการโดยระบุว่า การลงทุนในโครงการพลังงานฟอสซิลนั้นอาจดำเนินการในช่วงระยะเวลาหนึ่ง"
นายมาริโอ ดรากี นายกรัฐมนตรีอิตาลี แถลงเกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าวของกลุ่ม G7 เมื่อวานนี้ (26 มิ.ย.) ว่า "ในระยะสั้นเราอาจต้องลงทุนในด้านการวางโครงสร้างระบบก๊าซในประเทศกำลังพัฒนาและพื้นที่อื่น ๆ แทน" และเพิ่มเติมว่า "ในอนาคตนั้นเราอาจดัดแปลงโครงสร้างพื้นฐานที่ว่านี้ให้สามารถรองรับพลังงานไฮโดรเจนได้"
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หลายประเทศในภูมิภาคยุโรป รวมถึงอิตาลี กำลังประสบปัญหาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย หลังจากที่ความขัดแย้งเรื่องยูเครนปะทุขึ้น และสร้างความกังวลเพิ่มขึ้นถึงผลกระทบที่จะตามมาในภาคอุตสาหกรรมของประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย
นอกจากนี้ แหล่งข่าววงในรายหนึ่งยังเผยว่า นายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีและประธานการประชุม G7 เป็นผู้เสนอการประเด็นโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุม โดยขณะนี้ชาติสมาชิกกำลังหารือกันว่าจะบรรจุเรื่องนี้ไว้ในแถลงการณ์สุดท้ายของการประชุมประจำปีด้วยหรือไม่
อนึ่ง สหภาพยุโรป (EU) พึ่งพาการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียมากถึง 40% ในช่วงก่อนเกิดสงครามในยูเครน โดยเยอรมนีประเทศเดียวนั้นมีสัดส่วนการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียคิดเป็น 55% ของประเทศ