ประชุม COP27 ปิดฉากแล้ว สื่อคาดเป้าหมายคุมโลกร้อนทะลุ 1.5 องศาอาจล้มเหลว

ข่าวต่างประเทศ Monday November 21, 2022 09:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า คณะรัฐมนตรีจากประเทศต่าง ๆ ได้รับรองข้อตกลงขั้นสุดท้ายสำหรับการประชุมสุดยอด COP27 และเสร็จสิ้นการเจรจาเรื่องปัญหาสภาพอากาศของสหประชาชาติ (UN) เมื่อเช้าวานนี้ (20 พ.ย.) ในเมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์

ประเด็นสำคัญ 2 ประการจากการประชุมตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์จากเกือบ 200 ประเทศ มีดังต่อไปนี้

ประการแรก ที่ประชุม COP27 ตกลงร่วมกันจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกรวน หลังมีเสียงเรียกร้องมานานหลายทศวรรษ โดยเหตุผลของการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวคือ ภาวะโลกรวนยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน โดยประเทศร่ำรวยได้รับความมั่งคั่งจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ประเทศยากจนนอกจากจะไม่ได้รับประโยชน์ตรงนี้แล้ว ยังต้องแบกรับผลกระทบมหาศาลจากมลพิษที่เกิดจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การจัดตั้งกองทุนครั้งประวัติศาสตร์นี้มาพร้อมกับคำถามอีกมากมาย เนื่องจากในการประชุมครั้งนี้ยังไม่มีการให้เงินจริง ๆ แก่กองทุนดังกล่าว มิหนำซ้ำ ยังไม่มีการตกลงกฎเกณฑ์กันว่าจะใช้เงินกองทุนดังกล่าวกันอย่างไร โดยจะยกยอดไปตัดสินใจกันในการประชุม COP28 ครั้งหน้าในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ด้านนายเฮนรี โคโคฟู นักการเมืองชาวกานาและประธานเวทีหารือของกลุ่มประเทศที่เสี่ยงต่อผลกระทบจากปัญหาสภาพอากาศ (CVF) เตือนว่า หากไม่มีขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมเพิ่มเติม ก็เป็นไปได้ว่ากองทุนดังกล่าวจะกลายเป็นเพียง "บัญชีธนาคารที่ว่างเปล่า"

ประการที่สอง เป้าหมายการคุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2568 นั้นอาจไม่สำเร็จ แม้จะมีความพยายามจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ, อินเดีย และสหภาพยุโรป (EU) แต่ข้อตกลงที่เมืองชาร์มเอลชีคก็ล้มเหลวในการยกระดับปณิธานในการลดการปล่อยมลพิษ เนื่องจากหลายประเทศที่ส่งออกน้ำมันปฏิเสธข้อเรียกร้องที่จะให้ทยอยลดการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด

ขณะที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตพลังงานและผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ได้กำไรมหาศาลจากราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่พุ่งสูงนั้น อิทธิพลทางการเมืองของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันก็ปรากฏให้เห็นในการประชุม COP27 โดยนางอันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศแห่งเยอรมนี แสดงความไม่พอใจที่การหารือ "ถูกหน่วงเหนี่ยวขัดขวางโดยกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่และกลุ่มผู้ปล่อยมลพิษจำนวนมาก"

นอกจากนี้ การจะโน้มน้าวให้คนกลุ่มนี้ลดการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก เมื่อการประชุม COP28 จะจัดขึ้นที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อันเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ในด้านน้ำมันและก๊าซ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ