สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างคำกล่าวจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มากที่สุดในอินเดียว่า อินเดียกำลังพิจารณาสร้างแหล่งสำรองก๊าซ LNG ทางยุทธศาสตร์ไว้เผื่อในกรณีที่ราคาก๊าซ LNG สูงขึ้นหรือกรณีที่ขาดแคลนก๊าซ LNG หลังจากเกิดวิกฤตพลังงานในปีที่แล้ว
นายวิโนด กุมาร มิชรา ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของบริษัทปิโตรเน็ต แอลเอ็นจี กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลอินเดีย "เสนอว่าเราควรมีพื้นที่จัดเก็บก๊าซ LNG มากขึ้น เพื่อที่ว่าเมื่อราคาต่ำลงเราจะได้จัดเก็บ และใช้งานเมื่อเกิดวิกฤต เราได้เห็นมาแล้วว่าในช่วงวิกฤตนั้น เป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะทำให้แน่ใจได้ว่าจะมีก๊าซเพียงพอ"
ทั้งนี้ อินเดียลดการนำเข้าก๊าซ LNG เมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนทำให้ราคาก๊าซพุ่งสูงขึ้น ขณะที่ฝ่ายบริหารของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ตั้งเป้าที่จะใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในสัดส่วนการใช้พลังงานของอินเดีย แต่ราคาพลังงานที่พุ่งสูงกลับกลายเป็นอุปสรรคสำหรับบางอุตสาหกรรม
รัฐบาลในหลายประเทศต้องการจัดตั้งคลังก๊าซ LNG สำรองฉุกเฉิน ในลักษณะเดียวกับคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมน้ำมัน เนื่องจากเชื้อเพลิงชนิดนี้มีความสำคัญเพิ่มขึ้นในสัดส่วนการใช้พลังงานทั่วโลก ญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ซื้อก๊าซ LNG รายใหญ่ที่สุดของโลกกล่าวเมื่อปีที่แล้วว่ากำลังคิดที่จะจัดตั้งคลัง LNG สำรองด้วยเช่นกัน
นายมิชรากล่าวว่า ในขณะที่ยังไม่มีการหารือถึงเป้าหมายจำนวนการจัดเก็บ แต่ทางปิโตรเน็ตกำลังเพิ่มแทงก์เก็บก๊าซ LNG ที่คลังเก็บเชื้อเพลิงนำเข้า ตลอดจนกำลังสร้างโรงงานลอยน้ำในรัฐโอฑิศา
นายมิชราเสริมว่า วิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วทำให้บริษัทนำเข้าพลังงานของอินเดียมองหาข้อตกลงการจัดหาพลังงานระยะยาว เพื่อรับประกันว่าลูกค้าจะได้รับพลังงานในราคาคงที่มากขึ้น โดยข้อตกลงบางส่วนมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปีนี้
ปิโตรเน็ตกำลังเจรจากับกาตาร์เพื่อเจรจาสัญญาใหม่สำหรับก๊าซ LNG จำนวน 7.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งสัญญาจะหมดอายุในปี 2571 และปิโตรเน็ตกำลังหาทางขยายสัญญานำเข้าให้ได้เพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านตัน
อย่างไรก็ดี นายมิชรากล่าวว่า ราคาก๊าซ LNG ลดลงมาประมาณ 80% จากเดือนส.ค.ปีที่แล้ว ทำให้มีดีมานด์การซื้อสูงขึ้นทันที แต่นายมิชรามองว่าราคาต้องลดลงเหลือประมาณ 6-7 ดอลลาร์ต่อบีทียู ถึงจะเร่งการซื้อได้
"อินเดียเป็นตลาดที่มีความอ่อนไหวต่อราคา อินเดียไม่ได้พึ่งพาเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งและสามารถเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงที่ถูกกว่าได้" นายมิชรากล่าว