นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวสนับสนุนกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจรวมกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปี 2566 แม้สิ่งนี้สร้างความไม่พอใจต่อสหรัฐ
"สิ่งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อโลกพลังงานในแง่ของการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันในตลาดโลกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่วนการที่บางประเทศพอใจ และบางประเทศไม่พอใจ ก็เป็นเรื่องของพวกเขา" นายเพสคอฟกล่าว
ทั้งนี้ ทำเนียบขาวแสดงความไม่พอใจต่อการที่โอเปกพลัสประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจในครั้งนี้
"เราไม่คิดว่าการปรับลดกำลังการผลิตเป็นเรื่องที่เหมาะสมในขณะนี้ เมื่อพิจารณาถึงความไม่แน่นอนในตลาด ซึ่งเราได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนแล้ว" โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาวกล่าว
ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ มีความกังวลว่าการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของโอเปกพลัสจะทำให้ราคาน้ำมันในตลาดพุ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐดีดตัวขึ้น และจะกระทบต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลสหรัฐ ขณะที่ปธน.ไบเดนจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 ในปี 2567
ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 500,000 บาร์เรล/วัน โดยมีผลตั้งแต่เดือนพ.ค. ขณะที่รัสเซียปรับลดกำลังการผลิต 500,000 บาร์เรล/วัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (144,000 บาร์เรล/วัน) อิรัก (211,000 บาร์เรล/วัน) คูเวต (128,000 บาร์เรล/วัน) คาซัคสถาน (78,000 บาร์เรล/วัน) แอลจีเรีย (48,000 บาร์เรล/วัน) โอมาน (40,000 บาร์เรล/วัน) และกาบอง (8,000 บาร์เรล/วัน)