นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนพ.ค. หลังสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจรวมกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปี 2566
ตลาดคาดว่า การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดังกล่าวจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 61.2% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และให้น้ำหนักเพียง 38.8% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00%
ก่อนหน้านี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค. หลังการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุด และจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 500,000 บาร์เรล/วัน โดยมีผลตั้งแต่เดือนพ.ค. ขณะที่รัสเซียปรับลดกำลังการผลิต 500,000 บาร์เรล/วัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (144,000 บาร์เรล/วัน) อิรัก (211,000 บาร์เรล/วัน) คูเวต (128,000 บาร์เรล/วัน) คาซัคสถาน (78,000 บาร์เรล/วัน) แอลจีเรีย (48,000 บาร์เรล/วัน) โอมาน (40,000 บาร์เรล/วัน) และกาบอง (8,000 บาร์เรล/วัน)