ทำเนียบประธานาธิบดีศรีลังกาเปิดเผยเมื่อวานนี้ (22 พ.ค.) ว่า ซิโนเปค (Sinopec) ได้ลงนามในสัญญาเพื่อรุกเข้าสู่ตลาดค้าปลีกเชื้อเพลิงของศรีลังกาเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ศรีลังกาพยายามลดแรงกดดันที่มีต่อเงินสำรองสกุลดอลลาร์ที่มีอยู่น้อยนิด
ถ้อยแถลงของทำเนียบประธานาธิบดีระบุว่า ภายใต้ข้อตกลงใหม่นี้ ซิโนเปคจะได้รับใบอนุญาตระยะเวลา 20 ปี ในการดำเนินกิจการสถานีเชื้อเพลิง 150 แห่งและยังสามารถลงทุนในสถานีเชื้อเพลิงใหม่เพิ่มได้อีก 50 แห่ง โดยซิโนเปคสามารถเริ่มการดำเนินงานได้ภายใน 45 วันหลังได้รับใบอนุญาต
ศรีลังกากำลังต่อสู้กับวิกฤตการเงินครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2491 โดยมีเงินสำรองคงเหลือที่ 2.7 พันล้านดอลลาร์ในช่วงสิ้นเดือนเม.ย.
แถลงการณ์ระบุว่า ตอนนี้ ซิโนเปคสามารถนำเข้าเชื้อเพลิงโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินดอลลาร์จากธนาคารในประเทศของศรีลังกา และเสริมว่า "การพัฒนาดังกล่าวนำมาซึ่งความหวังของการมีซัพพลายเชื้อเพลิงที่มีเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือมากขึ้น ช่วยส่งเสริมภาคพลังงานของประเทศและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค"
นอกจากนี้ บริษัทยูไนเต็ด ปิโตรเลียม (United Petroleum) ของออสเตรเลีย และอาร์เอ็ม ปาร์คส์ (RM Parks) ของสหรัฐที่ร่วมงานกับเชลล์ (Shell) เองก็ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้รุกเข้าสู่ตลาดค้าปลีกเชื้อเพลิงของศรีลังกาในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาได้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ การอนุมัติดังกล่าวได้ยุติการผูกขาดของ 2 บริษัทพลังงานจากภาครัฐอย่างซีลอน ปิโตรเลียม คอร์ป (CPC) และลังกา ไอโอซี (Lanka IOC) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของบริษัทอินเดียน ออยล์ คอร์ป (Indian Oil Corp) ลงอย่างสิ้นเชิง