การบริโภคก๊าซ LNG ไทยโตแกร่งปีนี้ หวั่นกระทบการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดของอาเซียน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 25, 2023 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ไทยขยับขึ้นจากอันดับ 11 สู่อันดับที่ 8 ของโลกในด้านการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หลังจากที่การนำเข้าจนถึงเดือนต.ค.พุ่งขึ้น 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565

ข้อมูลจากเคปเลอร์ (Kpler) ระบุว่า ไทยนำเข้าก๊าซ LNG ปริมาณ 22.9 ล้านลูกบาศก์เมตรในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับระดับ 19.8 ล้านลูกบาศก์เมตรตลอดทั้งปี 2565 ทำให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG 10 อันดับแรกของโลกเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ การบริโภคก๊าซ LNG ที่แข็งแกร่งของไทยนั้นสวนทางกับการซื้อก๊าซ LNG ที่ลดลงอย่างมากจากผู้นำเข้ารายใหญ่อื่น ๆ ในปีนี้ ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ส่งออกก๊าซ LNG รายใหญ่อย่างกาตาร์ ออสเตรเลีย และมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ก๊าซอย่างมหาศาลของไทยได้สร้างความวิตกกังวลในกลุ่มผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากไทยถูกมองว่าเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคที่มีอิทธิพลต่อประเทศอื่น ๆ ในแง่ของความมุ่งมั่นและกลยุทธ์ในการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน

ปัจจัยหลักที่ทำให้ไทยนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปรับตัวขึ้น 127% นับตั้งแต่ปี 2562 คือระบบการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาก๊าซอย่างหนัก

ข้อมูลของสถาบันคลังสมองเอมเบอร์ (Ember) ระบุว่า ก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนคิดเป็นราว 67% ของการผลิตไฟฟ้าของไทยในปีนี้ เมื่อเทียบกับ 30% สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม และประมาณ 10% สำหรับเอเชียทั้งหมด

ค่าเฉลี่ยพลังงานก๊าซ LNG ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 63% ในปี 2565 เนื่องจากบริษัทผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มกำลังการผลิตโดยใช้ก๊าซ LNG เป็นเชื้อเพลิงในปีนี้ เพื่อชดเชยสัดส่วนการผลิตถ่านหินที่ลดลงจากเกือบ 20% ในปี 2565 สู่ประมาณ 16% ในปีนี้

เอมเบอร์ระบุว่า ผลผลิตถ่านหินที่ลดลงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยลงสู่ระดับเกือบ 2.5 ล้านตันในช่วง 8 แรกของปี 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565

อย่างไรก็ตาม การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากถ่านหินที่ลดลงถูกชดเชยด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่พุ่งสูงขึ้นเกือบ 5 ล้านตันจากการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้ภาคพลังงานของไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ แม้ว่าจะควบคุมการผลิตพลังงานจากถ่านหินแล้วก็ตาม สร้างความกังวลให้กับผู้ติดตามด้านสภาพอากาศที่หวังว่า ทั่วทั้งภูมิภาคจะพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย ถูกมองว่าเป็นตลาดสำคัญของภูมิภาคในแง่ของทิศทางเศรษฐกิจโดยรวมและศักยภาพด้านการเปลี่ยนแปลงพลังงาน

อย่างไรก็ตาม ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมช้าที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของการผลิตพลังงานทั้งหมดในประเทศ สวนทางกับเวียดนามที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมคิดเป็นสัดส่วน 13% ในขณะที่เอเชียโดยรวมมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 11% สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ไทยมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ