ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ UAE ผลักดันการเพิ่มการใช้พลังงานนิวเคลียร์ และ MOU ดังกล่าวสอดคล้องกับคำมั่นสัญญาจากกว่า 20 ประเทศในการประชุมสภาพภูมิอากาศของ COP28 ที่ดูไบ ที่ระบุว่าจะเพิ่มการใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นสามเท่าภายในทศวรรษนี้เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายโมฮาเหม็ด อัล ฮัมมาดี ซีอีโอของ ENEC กล่าวระหว่างพิธีลงนามว่า "สำหรับ UAE เรากำลังมองหาอนาคตที่อิเล็กตรอนและโมเลกุลสะอาดจะเกิดขึ้นได้จริงจากเครื่องปฏิกรณ์ขั้นสูง"
นายคริส เลเวสก์ ประธานและซีอีโอของเทอร์ราพาวเวอร์ กล่าวว่า "การนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขั้นสูงออกสู่ตลาดถือเป็นเรื่องสำคัญมากในการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก"
ปัจจุบัน UAE มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิมแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ใกล้กับอาบูดาบี ซึ่งเริ่มผลิตไฟฟ้าในปี 2563 ขณะเดียวกัน เทอร์ราพาวเวอร์กำลังมีโครงการสาธิตเครื่องปฏิกรณ์นาเทรียม (Natrium) ขั้นสูงในรัฐไวโอมิงของสหรัฐ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2573
ทั้งนี้ เครื่องปฏิกรณ์ขั้นสูงออกแบบมาให้มีขนาดเล็กกว่า สร้างได้ง่ายกว่า และมีพลวัตมากกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิม บางคนมองว่าเครื่องปฏิกรณ์ขั้นสูงคือส่วนเสริมที่ขาดไม่ได้สำหรับแหล่งพลังงาน เช่น ลมและแสงอาทิตย์ ซึ่งแม้เติบโตอย่างรวดเร็วแต่ก็ให้พลังงานได้ไม่ต่อเนื่อง
MOU ระหว่างเทอร์ราพาวเวอร์กับ UAE ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายจะศึกษาวิธีใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขั้นสูง เช่น ใช้จัดเก็บพลังงานบนโครงข่ายไฟฟ้าและจัดหาพลังงานที่จำเป็นในการผลิตไฮโดรเจน ตลอดจนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากโรงงานถ่านหิน เหล็ก และอะลูมิเนียม