สำนักงานพลังงานสากล (IEA) เปิดเผยรายงานในวันนี้ (15 ธ.ค.) ระบุว่า การใช้ถ่านหินทั่วโลกคาดว่าจะพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2566 เนื่องจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนายังคงต้องการใช้ถ่านหินในปริมาณมาก
IEA ระบุว่า ความต้องการถ่านหินเพิ่มขึ้น 1.4% ในปี 2566 และจะมากกว่า 8.5 พันล้านตันเป็นครั้งแรก เนื่องจากการใช้งานในอินเดียคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8% และในจีนเพิ่มขึ้น 5% โดยมีสาเหตุมาจากความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นและการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำให้ผลผลิตไม่เพียงพอ
รายงานระบุว่า ในสหภาพยุโรปและสหรัฐจะใช้ถ่านหินลดลงประมาณ 20% ในปี 2566
ทั้งนี้ การใช้ถ่านหินคาดว่าจะไม่เริ่มลดลงจนกว่าจะถึงปี 2569 ซึ่งเป็นช่วงที่การขยายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนครั้งใหญ่ในอีก 3 ปีข้างหน้าควรจะช่วยลดการใช้ถ่านหินลงได้ 2.3% เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้ในปี 2566 แม้ในกรณีที่ไม่มีนโยบายพลังงานสะอาดที่เข้มงวดมากขึ้นก็ตาม
อย่างไรก็ตาม รายงานคาดว่าทั่วโลกจะยังคงใช้ถ่านหินเกิน 8 พันล้านตันในปี 2569 ซึ่งหากต้องการให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีส โลกจำเป็นต้องลดการใช้งานถ่านหินที่ไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพียงพอ (unabated coal) ให้เร็วกว่านี้มาก
IEA ระบุว่า ตลอด 3 ปีข้างหน้าคาดว่าจีนจะคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการขยายแหล่งพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก ทำให้ความต้องการถ่านหินในประเทศลดลงในปี 2567 และทรงตัวจนถึงปี 2569
รายงานระบุว่า ครึ่งหนึ่งของการใช้ถ่านหินทั่วโลกมาจากจีน ดังนั้น อนาคตของถ่านหินในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับความเร็วของจีนในการหันมาใช้พลังงานสะอาด สภาพอากาศ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในเศรษฐกิจจีน
ในปีนี้ จีน อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดว่าจะคิดเป็นสัดส่วน 3 ใน 4 ของการใช้ถ่านหินทั่วโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากสัดส่วน 1 ใน 4 ในปี 2533 และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดว่าจะใช้ถ่านหินมากกว่าสหรัฐและสหภาพยุโรปในปี 2566
IEA เปิดเผยว่า อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคเดียวที่คาดว่าจะใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้นอย่างมากไปจนถึงปี 2569