สำนักงานพลังงานสากล (IEA) เปิดเผยว่า กำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าภายในปี 2573 แต่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องพยายามมากขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 3 เท่าตามที่ตกลงกันในการประชุมสภาพภูมิอากาศโลกของสหประชาชาติ
รายงานแนวโน้มพลังงานหมุนเวียนประจำปีของ IEA ระบุว่า กำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 50% จากปีก่อนหน้าเป็น 510 กิกะวัตต์ (GW) ส่งผลให้กำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 3,700 GW
ภายใต้เงื่อนไขของนโยบายและตลาดปัจจุบัน กำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 7,300 GW ภายในปี 2571 แต่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายปี 2573 ตามที่ตกลงกันไว้ในปีที่แล้ว กำลังการผลิตจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อยมาอยู่ที่ 11,000 GW
เมื่อเดือนธ.ค. 2566 รัฐบาลทั่วโลกตกลงที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็นสามเท่าให้ได้ภายในปี 2573 และเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในการประชุมสุดยอด COP28 ด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ณ ดูไบ แต่ยังไม่มีการตกลงเรื่องกลไกในการสนับสนุนการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
รายงานของ IEA ระบุว่า อุปสรรคใหญ่ที่สุดในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคือ การจัดหาเงินทุนเพิ่มและการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่
ฟาติฮ์ บิโรล ผู้อำนวยการบริหารของ IEA เปิดเผยกับทางรอยเตอร์ว่า "หากไม่มีความช่วยเหลือใด ๆ ต่อประเทศในแอฟริกาและประเทศรายได้ต่ำในเอเชียและลาตินอเมริกาแล้ว ประเทศเหล่านี้จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานสะอาดได้ ซึ่งจะเป็นจุดบกพร่องในการบรรลุเป้าหมายปี 2573"
ตลอดปีที่ผ่านมา ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนอุปกรณ์และการจัดหาเงินทุนของโครงการพลังงานหมุนเวียนเพิ่มสูงขึ้น และนโยบายต่าง ๆ ยังคงปรับตัวไม่ทันกับสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจมหภาคใหม่
นอกจากนี้ การลงทุนที่ไม่เพียงพอในโครงข่ายไฟฟ้าก็เป็นอีกปัจจัยที่ขัดขวางพลังงานหมุนเวียนให้ได้รวดเร็ว รวมถึงกระบวนการขอใบอนุญาตที่ล่าช้าและยุ่งยาก ตลอดจนอุปสรรคด้านการบริหาร