ศาลออสเตรเลียไฟเขียว "ซานโตส" วางท่อก๊าซใต้ทะเล มูลค่า 4.3 พันล้านดอลลาร์

ข่าวต่างประเทศ Monday January 15, 2024 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในวันนี้ (15 ม.ค.) ว่าศาลออสเตรเลียตัดสินให้บริษัทซานโตส (Santos) สามารถเดินหน้าก่อสร้างท่อส่งก๊าซใต้น้ำสำหรับโครงการก๊าซบาร์รอสซา (Barossa) มูลค่า 4.3 พันล้านดอลลาร์ โดยท่อส่งก๊าซดังกล่าวจะเชื่อมแหล่งก๊าซบาร์รอสซากับโรงงานแปรรูปก๊าซในเมืองดาร์วินทางเหนือของออสเตรเลีย

ก่อนหน้านี้ โครงการดังกล่าวถูกระงับตามคำสั่งศาลเมื่อเดือนพ.ย. 2566 หลังจากที่นายไซมอน มุนการา คนในชนเผ่าพื้นเมือง เจ้าของที่ดินดั้งเดิมจากหมู่เกาะตีวี ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐบาลกลางออสเตรเลีย เพื่อระงับการดำเนินการวางท่อก๊าซ จนกว่าจะมีการประเมินผลกระทบและความเสี่ยงต่อมรดกทางวัฒนธรรมใต้ทะเลอย่างเหมาะสม โดยนายมุนการาระบุในแถลงการณ์ว่า ท่อส่งก๊าซดังกล่าวจะรบกวนและสร้างความโกรธเคืองต่อ "วิญญาณบรรพบุรุษ" สองตน คือ "อัมปิจิ" (งูสีรุ้ง) และ "จิราคูปาย" (มนุษย์จระเข้)

อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษานาตาลี ชาร์ลสเวิร์ธ สั่งยกฟ้อง และยกเลิกคำสั่งศาลก่อนหน้านี้ที่สั่งระงับการดำเนินการดังกล่าว เพื่อเปิดทางให้ซานโตสเริ่มก่อสร้างท่อส่งก๊าซใต้น้ำ

ผู้พิพากษาชาร์ลสเวิร์ธกล่าวว่า มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากมายในหมู่ชาวเกาะตีวีเกี่ยวกับเรื่องราวของอัมปิจิและจิราคูปาย และมี "ความเป็นไปได้เพียงน้อยนิดที่จะมีวัตถุที่มีคุณค่าทางโบราณคดีในบริเวณเส้นทางท่อส่งก๊าซ"

คำตัดสินของศาลส่งผลให้หุ้นซานโตสปิดตลาดที่ระดับ 7.83 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือ +3.71% ณ เวลา 12.10 น. ตามเวลาไทย

ด้านซานโตสออกแถลงการณ์พอใจกับคำตัดสินดังกล่าว และจะดำเนินการวางท่อส่งก๊าซสำหรับโครงการบาร์รอสซาต่อไป

คำตัดสินครั้งนี้ถือเป็นการขจัดอุปสรรคสำคัญที่ขวางกั้นโครงการบาร์รอสซาที่ล่าช้ามานาน นอกจากนี้ยังช่วยเสริมความมั่งคั่งให้ซานโตสอีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่มีข่าวว่าซานโตสอาจควบรวมกิจการกับคู่แข่งรายใหญ่กว่าอย่างวูดไซด์ เอเนอร์จี (Woodside Energy)

ก่อนหน้านี้ วูดไซด์กับซานโตสประกาศการเจรจาเบื้องต้นในเดือนธ.ค. เกี่ยวกับการควบรวมกิจการมูลค่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (5.353 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่ข้อตกลงดังกล่าวคาดว่าจะยังไม่เกิดขึ้นก่อนเดือนก.พ.นี้

ทั้งนี้ โครงการบาร์รอสซา ซึ่งซานโตสดำเนินการร่วมกับบริษัทเอสเค อี แอนด์ เอส (SK E&S) ของเกาหลีใต้ และเจร่า (JERA) ของญี่ปุ่น ยังคงต้องได้รับอนุมัติแผนสิ่งแวดล้อมหลายฉบับก่อนที่จะดำเนินการต่อไป โดยแผนเจาะสำรวจฉบับปรับปรุงของบาร์รอสซาเพิ่งได้รับอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลปิโตรเลียมเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ