เวียดนามตั้งเป้าผลิตไฮโดรเจนให้ได้ปีละ 1-5 แสนตันภายในปี 2573 โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาไฮโดรเจนของประเทศที่เพิ่งมีการปรับใช้เมื่อต้นเดือนนี้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิงเอกสารของรัฐบาลเวียดนามว่า ผลผลิตไฮโดรเจนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10-20 ล้านตันภายในปี 2593 ซึ่งรวมถึงไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ด้วย
เอกสารดังกล่าวระบุว่า การผลิต การจัดจำหน่าย และการใช้ไฮโดรเจนจะช่วยให้ "บรรลุเป้าหมายของประเทศในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเติบโตสีเขียว และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593"
อนึ่ง ไฮโดรเจนที่จัดว่าเป็น "สีเขียว" นั้น คือไฮโดรเจนที่สกัดจากน้ำโดยใช้กระบวนการอิเล็กโทรไลซิสที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน และถูกมองว่าเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยลดคาร์บอนในอุตสาหกรรม แม้เทคโนโลยีนี้จะยังมีราคาสูงและอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาก็ตาม
เอกสารระบุว่าภายในปี 2573 ไฮโดรเจนจะถูกนำมาใช้ทดแทนก๊าซธรรมชาติและถ่านหินในโรงไฟฟ้าบางส่วน นอกจากนี้ ไฮโดรเจนจะถูกใช้ในด้านการขนส่ง การผลิตปุ๋ย เหล็ก และซีเมนต์ด้วย โดยภายในปี 2593 ไฮโดรเจนจะเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าถึง 10% ของประเทศ
เวียดนามจะระดมทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อการผลิตไฮโดรเจน รวมถึงการออกพันธบัตรสีเขียว (green bond) และเงินจากโครงการ Just Energy Transition Partnership (JETP) ซึ่งเป็นโครงการจัดหาเงินทุนในรูปแบบการลงทุนในตราสารทุน เงินอุดหนุน และเงินกู้แบบผ่อนปรนจากกลุ่มประเทศ G7, ธนาคารพหุภาคี และแหล่งเงินกู้เอกชน