สถาบันที่ปรึกษาด้านพลังงานวู้ด แมคเคนซี (Wood Mackenzie) หรือวู้ดแมค เปิดเผยบทวิเคราะห์ในวันนี้ (28 มี.ค.) ว่า มากกว่า 1 ใน 5 ของกำลังการกลั่นน้ำมันทั่วโลกอาจจะต้องปิดตัวลง เนื่องจากอัตรากำไรน้ำมันเบนซินอ่อนตัวลง ท่ามกลางแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากกระแสการลดการปล่อยคาร์บอน
จากการวิเคราะห์โรงกลั่นน้ำมัน 465 แห่ง วู้ดแมคระบุว่ากำลังการกลั่นทั่วโลกราว 21% ของปี 2566 นี้ อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการปิดตัว
ยุโรปและจีนมีจำนวนกำลังการกลั่นน้ำมันที่เสี่ยงถูกปิดมากที่สุด คิดเป็นปริมาณราว 3.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน (bpd) โดยวู้ดแมคได้ประเมินจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น อัตรากำไรเงินสดสุทธิ ต้นทุนการปล่อยคาร์บอน การเป็นเจ้าของโรงกลั่น การลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม และมูลค่าเชิงกลยุทธ์ของโรงกลั่น
ในยุโรปเพียงที่เดียวก็มีโรงกลั่นที่เสี่ยงถูกปิดแล้วถึง 11 แห่ง ซึ่งคิดเป็น 45% ของโรงกลั่นที่มีความเสี่ยงสูงทั้งหมด
นอกจากนี้ ข้อมูลจากองค์กรอุตสาหกรรม Concawe ระบุว่า โรงกลั่นกว่า 30 แห่งในยุโรปได้ปิดตัวลงไปแล้วตั้งแต่ปี 2552 โดยยังมีโรงกลั่นที่ยังดำเนินการอยู่เกือบ 90 แห่ง
การปิดตัวครั้งใหญ่นี้ไม่เพียงเกิดจากการแข่งขันกับโรงกลั่นที่ใหม่กว่าและล้ำหน้ากว่าในตะวันออกกลางและเอเชียเท่านั้น แต่ยังเกิดจากผลกระทบของโควิด-19 อีกด้วย
บทวิเคราะห์จากวู้ดแมคระบุว่า อัตรากำไรน้ำมันเบนซินจะอ่อนตัวลงภายในสิ้นคริสต์ทศวรรษนี้ เนื่องจากความต้องการลดลงและมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียผ่อนคลายลง ขณะที่ภาษีคาร์บอนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้นจะเข้ามาเพิ่มต้นทุนอีกด้วย
เอ็มมา ฟ็อกซ์ นักวิเคราะห์น้ำมันและเคมีภัณฑ์อาวุโสของวู้ดแมค กล่าวว่า ต้นทุนการดำเนินงานอาจพุ่งสูงขึ้นมากจนบางโรงกลั่นอาจไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องปิดตัวลง
ขณะเดียวกัน โรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่อย่างดันโกเต (Dangote) ของไนจีเรียอาจทำให้การค้าน้ำมันเบนซินมูลค่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีจากยุโรปไปแอฟริกาที่ทำกันมายาวนานหลายทศวรรษนั้นต้องจบลง ซึ่งจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับโรงกลั่นในยุโรปที่เสี่ยงปิดตัวอยู่แล้ว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โรงกลั่นดันโกเตมีกำลังการผลิตสูงถึง 650,000 บาร์เรลต่อวัน โดยเริ่มการผลิตเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังไม่รวมอยู่ในรายงานการวิเคราะห์ของวู้ดแมค
อนึ่ง ในจีนก็มีโรงกลั่นอิสระขนาดเล็ก 7 แห่งที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะถูกปิดตัว โดยโรงกลั่นเหล่านี้ซึ่งถูกเรียกว่า "กาน้ำชา" (teapots) นั้น ต้องรับมือกับกฎระเบียบที่เข้มงวดของรัฐบาลจีน และต้องแข่งขันกับโรงกลั่นใหญ่ ๆ ที่มักเป็นของรัฐที่มีการดำเนินงานที่ซับซ้อนกว่า