กูเกิลจับมือเป็นพันธมิตรกับเฟอร์โว เอเนอร์จี (Fervo Energy) บริษัทสตาร์ตอัปด้านสาธารณูปโภคและพลังงานความร้อนใต้พิภพในรัฐเนวาดา เพื่อดำเนินการศูนย์ข้อมูลด้วยไฟฟ้าที่ผลิตจากความร้อนของโลก
แถลงการณ์ของกูเกิลระบุว่า เฟอร์โว เอเนอร์จีจะพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพที่จัดหาพลังงานไฟฟ้า 115 เมกะวัตต์ให้แก่บริษัทเอ็นวี เอเนอร์จี อิงค์ (NV Energy Inc.) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ เอเนอร์จี (Berkshire Hathaway Energy) ของนายวอร์เรน บัฟเฟตต์ จากนั้น เอ็นวี เอเนอร์จี จะจำหน่ายไฟฟ้าให้กับกูเกิล ภายใต้ข้อตกลงที่ยังคงรอการรับรองจากหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ แตกต่างจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ตรงที่สามารถดำเนินงานได้ตลอดเวลา โดยใช้น้ำที่ได้รับความร้อนจากหินใต้พิภพเพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้าโดยไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน ซึ่งเฟอร์โวได้ใช้การขุดเจาะแนวนอนภายในแหล่งกักเก็บความร้อนใต้พิภพเพื่อเพิ่มผลผลิต
ศูนย์ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาที่น่าปวดหัวของบริษัทเทคโนโลยีที่ตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนลง โดยไฟฟ้าที่กูเกิลตกลงจะซื้อจากเอ็นวี เอเนอร์จีและเฟอร์โว อาจให้พลังงานแก่ครัวเรือนต่าง ๆ ได้ราว 86,000 ครัวเรือน