ตลาดโซลาร์เซลล์อาเซียนส่อกระทบหนัก เหตุการค้าสหรัฐ-จีนตึงเครียด

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 21, 2024 11:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตโซลาร์เซลล์รายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากจีน กำลังเผชิญความไม่แน่นอน เนื่องจากสหรัฐฯ เตรียมเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูงจากภูมิภาคนี้

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บริษัทจีนที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ถูกกล่าวหาว่าใช้ช่องทางดังกล่าวหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยขณะนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างลอนจี (Longi) และทรินา โซลาร์ (Trina Solar) ได้ลดกำลังการผลิตในไทย เวียดนาม และมาเลเซียแล้ว ขณะที่กัมพูชาก็ถูกทางการสหรัฐฯ เพ่งเล็งด้วยเช่นกัน

ข้อมูลจากบลูมเบิร์กเอ็นอีเอฟ (BloombergNEF) ระบุว่า ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รวมกันกว่า 40% เมื่อนับเฉพาะที่ผลิตนอกประเทศจีน ส่งผลให้บริษัทจีนบางแห่งวางแผนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย ลาว หรือตะวันออกกลาง นอกจากนี้ บางรายยังเริ่มหาทางส่งออกโซลาร์เซลล์ไปยังตลาดใหม่ ๆ เพื่อทดแทนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่อาจถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง

สถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความผันผวนในซัพพลายเชนพลังงานสะอาด ขณะที่สหรัฐฯ ยุโรป และประเทศอื่น ๆ พยายามแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดคืนจากจีน ซึ่งครองตลาดการผลิตโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ การสอบสวนของสหรัฐฯ เมื่อเดือนส.ค.ปีที่แล้วมีข้อสรุปว่า ผู้ผลิตจีนบางรายหลบเลี่ยงภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากจีนในปี 2555 โดยบริษัทเหล่านี้เริ่มลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังจากสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าดังกล่าว จึงนำไปสู่การเรียกเก็บภาษีนำเข้าในระดับต่าง ๆ กับบริษัท 5 แห่งที่มีฐานการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สื่อจีนและมาเลเซียรายงานว่า ลอนจีได้ระงับสายการผลิต 5 สายในเวียดนาม และเริ่มลดการดำเนินงานในมาเลเซีย ส่วนทรินา โซลาร์ มีแผนปิดโรงงานบางส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจิงโกะ โซลาร์ (Jinko Solar) ปิดโรงงานแห่งหนึ่งในมาเลเซีย

ส่วนในไทยนั้น ทรินา โซลาร์ แถลงว่าโรงงานผลิตโซลาร์เซลล์ในไทยยังคงดำเนินการตามปกติ และจะตัดสินใจเรื่องโรงงานอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อทราบผลการสอบสวนรอบล่าสุดของสหรัฐฯ แล้ว

ด้านนักวิเคราะห์มองว่า โรงงานจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะไม่ปิดตัวลงทั้งหมด เพราะยังส่งสินค้าไปยังอินเดีย ยุโรป และที่อื่น ๆ ได้ โดยโรงงานเก่า ๆ บางแห่งอาจต้องปิดตัวลง แต่โรงงานใหม่ ๆ น่าจะอยู่รอดหากหาตลาดทดแทนได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ