จั๋ว หรงไท่ นายกรัฐมนตรีไต้หวัน เปิดเผยว่า ไต้หวัน "เปิดกว้างมาก" สำหรับการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิตชิป อันเนื่องมาจากความเฟื่องฟูของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสัญญาณชัดเจนที่สุดที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลอาจทบทวนจุดยืนใหม่ จากเดิมที่เคยต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
"ตราบใดที่ไต้หวันมีฉันทามติเกี่ยวกับความปลอดภัยของนิวเคลียร์ รวมทั้งมีทิศทางที่ดีและการรับประกันในการจัดการขยะนิวเคลียร์ เราก็สามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะได้" นายกรัฐมนตรีไต้หวันกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก
"เราหวังว่าไต้หวันจะตามทันเทรนด์โลกและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์" นายกฯ กล่าว พร้อมเน้นย้ำมุมมองของเขาที่ว่า "ไต้หวันจะไม่ประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมก่อนปี 2573"
ทั้งนี้ การสนับสนุนของชาวไต้หวันต่อพลังงานนิวเคลียร์ร่วงลงอย่างมากหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นเมื่อปี 2554 และทำให้โรงไฟฟ้าฟูกุชิมะพังเสียหาย จนนำไปสู่วิกฤตที่รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงต้องแก้ไขมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ความคิดเห็นล่าสุดของจั๋วบ่งชี้ว่า รัฐบาลไต้หวันอาจกำลังเปลี่ยนแปลงจุดยืนดังกล่าว
ไต้หวันไม่ใช่รายเดียวที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อกระตุ้นการผลิตไฟฟ้า ทางฝั่งสหรัฐฯ เองก็มีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เช่นกัน โดยไมโครซอฟท์ (Microsoft) กำลังช่วยฟื้นฟูโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทรีไมล์ไอส์แลนด์ (Three Mile Island) ในรัฐเพนซิลเวเนียที่ปิดตัวลงไปก่อนหน้านี้ ขณะที่บริษัทกูเกิล (Google) และอะเมซอน (Amazon) ต่างก็ลงทุนในเทคโนโลยีนิวเคลียร์รุ่นใหม่ ด้านฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้ตกลงที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เก่าที่ไม่ได้ใช้งานในฟิลิปปินส์