"คอมมอนเวลธ์" จ่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟิวชันเชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลกในสหรัฐฯ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 18, 2024 13:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คอมมอนเวลธ์ ฟิวชัน ซิสเต็มส์ (CFS) บริษัทเอกชนที่แยกตัวมาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ประกาศเมื่อวานนี้ (17 ธ.ค.) ถึงแผนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันเชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลกที่รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐฯ โดยตั้งเป้าผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าได้ภายในทศวรรษ 2570

หากโครงการนี้สำเร็จ จะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมพลังงานโลกครั้งใหญ่ เพราะพลังงานฟิวชันเป็นแหล่งพลังงานสะอาด ไร้ขีดจำกัด เป็นพลังงานแบบเดียวกับที่ขับเคลื่อนดวงอาทิตย์และดวงดาวต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม เส้นทางสู่ความสำเร็จยังอีกยาวไกล เพราะ CFS ยังไม่ได้รับใบอนุญาตทั้งจากรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง ยังขาดเงินทุนสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ และยังต้องหาคำตอบให้กับโจทย์ใหญ่ทางเทคโนโลยีของพลังงานฟิวชันไม่ได้ นั่นคือ ทำอย่างไรจึงจะได้พลังงานจากปฏิกิริยาฟิวชันมากกว่าพลังงานที่ใส่เข้าไป

ถึงกระนั้น CFS ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนด้านพลังงานฟิวชันที่ใหญ่ที่สุด และระดมทุนไปแล้วกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อใช้สำหรับโครงการสาธิตเป็นส่วนใหญ่นั้น ก็ยังมั่นใจว่าจะมีเงินลงทุนไหลเข้ามาสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าแห่งนี้

"การที่เรามีกลุ่มนักลงทุนที่หลากหลาย ถือเป็นสัญญาณที่ดี" บ็อบ มัมการ์ด ซีอีโอของ CFS ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ก่อนการประกาศแผนดังกล่าว

ทั้งนี้ นักลงทุนของ CFS มีทั้งบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่จากอิตาลีอย่าง ENI, กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์ เทมาเส็ก (Temasek) และบริษัทอีควินอร์ (Equinor) จากนอร์เวย์

อย่างไรก็ตาม CFS ยังมีอุปสรรคอื่น ๆ ที่ต้องฝ่าฟัน เช่น การพัฒนาวัสดุที่ทนทานต่อการกระหน่ำยิงของนิวตรอนพลังงานสูงและอุณหภูมิที่ร้อนจัดที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นบนโลก รวมถึงการถ่ายเทความร้อนดังกล่าวไปยังกังหันเพื่อผลิตไฟฟ้า

การทำให้ปฏิกิริยาฟิวชันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แทนที่จะเกิดเป็นครั้งคราว ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่สำคัญ

CFS เปิดเผยว่าจะเริ่มยื่นขอใบอนุญาตจากหน่วยงานท้องถิ่น รัฐ และรัฐบาลกลางในปีหน้า ซึ่งเร็วกว่ากำหนดการทดลองผลิตพลาสมา (สสารในสถานะที่ร้อนยิ่งยวดและมีประจุไฟฟ้า ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาฟิวชันได้) ครั้งแรกในปี 2569 ที่โครงการ SPARC ซึ่งเป็นโครงการสาธิตเตาปฏิกรณ์ฟิวชันแบบแม่เหล็กในรัฐแมสซาชูเซตส์

บริษัทหวังว่าจะสามารถผลิตพลังงานได้มากกว่าพลังงานที่ใส่เข้าไป (net energy) หลังจากนั้นไม่นาน

"แน่นอนว่าไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผน แต่ถ้าคุณไม่เตรียมตัวเลย มันก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย" มัมการ์ดกล่าวถึงแผนการสร้างโรงไฟฟ้าในเวอร์จิเนีย ก่อนที่จะแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ให้ลุล่วง

ด้านโดมิเนียน เอเนอร์จี (Dominion Energy) จะให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ที่ไม่ใช่การเงิน รวมถึงความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคและการพัฒนา รวมถึงสิทธิในการเช่าพื้นที่สำหรับโรงไฟฟ้าที่เสนอในเขตเชสเตอร์ฟิลด์

เอ็ดเวิร์ด เบน ประธานของโดมิเนียน เอเนอร์จี เวอร์จิเนีย กล่าวว่า CFS กำลัง "ขับเคลื่อนศักยภาพอันน่าตื่นเต้นของพลังงานฟิวชัน"

เมื่อปีที่แล้ว คณะกรรมการกำกับดูแลนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ (NRC) ที่มีสมาชิก 5 คน ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้แยกกฎระเบียบสำหรับพลังงานฟิวชันออกจากพลังงานฟิชชัน ซึ่งผู้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่นี้มองว่าจะช่วยให้พวกเขาสามารถคิดค้นนวัตกรรมได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ NRC สองคนซึ่งมีส่วนร่วมในการร่างกฎระเบียบดังกล่าว ได้ท้าทายแนวทางการออกใบอนุญาตที่แตกต่างกันนี้ในเอกสารที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยแย้งว่า โรงไฟฟ้าพลังงานฟิวชันอาจต้องใช้น้ำปริมาณมากในการหล่อเย็น และอาจมีการรั่วไหลของทริเทียม (Tritium) ซึ่งเป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีที่ควบคุมได้ยาก

มัมการ์ดกล่าวว่า CFS กำลังเรียนรู้วิธีจัดการกับทริเทียมที่โรงงานในแมสซาชูเซตส์ และคำวิจารณ์ของเจ้าหน้าที่ทั้งสอง "เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการปกติในการทำงานของเจ้าหน้าที่" เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับพลังงานฟิวชัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ