ประธานกลุ่มล็อบบี้ไฟฟ้าแห่งยุโรปให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันนี้ (23 ธ.ค.) ว่า หากรัฐบาลต้องการช่วยเหลืออุตสาหกรรมยุโรปที่กำลังดิ้นรน ควรหันมาจัดการกับภาษีพลังงานที่สูงลิบของยุโรป ซึ่งกำลังบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขัน
สหภาพยุโรปกำลังร่างชุดมาตรการเพื่อประคับประคองอุตสาหกรรมที่ซบเซา คาดว่าจะประกาศต้นปีหน้า ท่ามกลางคำเตือนจากบรรดายักษ์ใหญ่การผลิต ทั้งค่ายรถยนต์และบริษัทเหล็กกล้า ที่ส่อแววปิดโรงงานและปลดคนงานนับพัน
ลีออนฮาร์ด เบิร์นบอม ประธานกลุ่มยูรีเล็กทริก (Eurelectric) กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพลังงานสูงของยุโรปกำลังเผชิญปัญหารุมเร้า ทั้งตลาดที่กระจายตัวมากกว่าจีน และการเข้าถึงสินเชื่อที่ยากเย็น แต่หากผู้กำหนดนโยบายต้องการบรรเทาสถานการณ์เร่งด่วน ควร "ตัดทิ้ง" ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับโครงสร้างอุตสาหกรรมออกจากราคาพลังงาน
"เราเข้าใจดีว่ารัฐต้องการรายได้เพิ่มขึ้นเสมอ แต่ถ้าจะให้หันมาใช้ไฟฟ้าจริง ๆ ก็ไม่ควรเก็บภาษีไฟฟ้าสูงลิ่วเมื่อเทียบกับภาษีก๊าซ" เบิร์นบอม ซีอีโอบริษัท E.ON ของเยอรมนี กล่าวในบทสัมภาษณ์
"ถ้าเราจริงจังกับการแข่งขันด้านต้นทุน จริงจังกับการหันมาใช้พลังงานไฟฟ้า และจริงจังกับการลดคาร์บอน ผมคิดว่าเราต้องลงมือทำเรื่องนี้แล้ว" เบิร์นบอมกล่าว
จากการวิเคราะห์ของคลังสมองบรือเกล (Bruegel) พบว่า อุตสาหกรรมในสหภาพยุโรป (EU) ต้องจ่ายค่าไฟแพงกว่าสหรัฐฯ 2-3 เท่า โดยในปี 2566 ภาษีคิดเป็น 23% ของราคาไฟฟ้าขายปลีกที่บริษัทต่าง ๆ ที่ใช้พลังงานสูงในยุโรปต้องจ่าย
อย่างไรก็ตาม ภาษีส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยรัฐบาลประเทศสมาชิก และอยู่นอกเหนืออำนาจ EU ส่วนการเจรจาระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อปรับกฎภาษีให้เอื้อต่อพลังงานสะอาดก็เป็นอัมพาตมาตั้งแต่ปี 2564
เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากประเทศสมาชิกหนึ่งมองว่า การลดภาษีจะช่วยได้แค่ "เล็กน้อย" ต้องมีมาตรการครอบคลุมกว้างกว่านี้ถึงจะช่วยให้อุตสาหกรรมยุโรปสู้กับจีนได้ เช่น กฎ EU ที่บังคับให้การจัดซื้อภาครัฐต้องเลือกสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
"เรามีเครื่องมือนโยบายทั้งด้านการค้าและการแข่งขัน... ต้องมองภาพใหญ่กว่านี้" เจ้าหน้าที่ระดับสูงกล่าว
อนึ่ง ราคาไฟฟ้าขายส่งในยุโรปเดือนที่แล้วพุ่งแตะจุดสูงสุดในรอบกว่าปี แม้ยังต่ำกว่าจุดสูงสุดในปี 2565 หลังรัสเซียบุกยูเครนและลดการส่งก๊าซให้ EU