ข้อมูลการติดตามเรือระบุว่า เรือบรรทุกน้ำมันอย่างน้อย 65 ลำต้องทอดสมอนิ่งตามจุดต่าง ๆ รวมถึงน่านน้ำนอกชายฝั่งจีนและรัสเซีย ภายหลังสหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่เมื่อวันที่ 10 ม.ค.
สำนักข่าวรอยเตอร์วิเคราะห์ข้อมูลจากระบบติดตามเรือ MarineTraffic และ LSEG พบว่า ในจำนวนดังกล่าว มีเรือ 5 ลำจอดนิ่งอยู่นอกท่าเรือจีน อีก 7 ลำทอดสมออยู่นอกน่านน้ำสิงคโปร์ ส่วนที่เหลือจอดรอใกล้น่านน้ำรัสเซียทั้งในทะเลบอลติกและเขตตะวันออกไกล
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 ม.ค.) กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตร โดยมีเป้าหมายคือบริษัทผู้ผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ได้แก่ ก๊าซพรอม เนฟต์ (Gazprom Neft) และซูร์กุตเนฟเตกัส (Surgutneftegaz) พร้อมกับเรือขนส่งน้ำมันรัสเซียอีก 183 ลำ เพื่อสกัดกั้นแหล่งรายได้ที่รัสเซียนำไปใช้ทำสงครามกับยูเครน
การที่เรือเหล่านี้ไม่สามารถทำการค้าได้ยิ่งซ้ำเติมเรือที่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรก่อนหน้านี้ขึ้นไปอีก
ข้อมูลการติดตามเรือเมื่อวันจันทร์ (13 ม.ค.) ยังระบุว่า มีเรือบรรทุกน้ำมันอีก 25 ลำ ต้องจอดนิ่งตามจุดต่าง ๆ รวมถึงนอกชายฝั่งอิหร่านและบริเวณใกล้คลองสุเอซ
ตามที่บรรดาผู้ค้าเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่าเรือบางแห่งได้เริ่มดำเนินการไปก่อนแล้ว ทำให้สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดขึ้น อย่างเช่นกลุ่มท่าเรือซานตง ที่ประกาศห้ามเรือที่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรเข้าเทียบท่าโดยสิ้นเชิง
นักวิเคราะห์ประเมินว่า ขณะนี้กองเรือบรรทุกน้ำมันราว 10% ของโลกเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
"มาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้ควรจะเป็นผลดีต่อตลาดเรือบรรทุกน้ำมัน เพราะจำนวนเรือในภาพรวมจะลดลง แต่ตลาดจะแข็งแกร่งอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อผู้ส่งออกรายอื่นเข้ามาทดแทนปริมาณน้ำมันที่หายไปได้" โอมาร์ น็อคตา นักวิเคราะห์จากเจฟฟรีส์ (Jefferies) ระบุในรายงานเมื่อวันจันทร์
รายได้เฉลี่ยต่อวันของเรือบรรทุกน้ำมันขนาดมหึมา (Supertanker) พุ่งขึ้นกว่า 10% ในวันจันทร์เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า แตะระดับ 26,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามการประเมินของตลาด
บริษัทเช่าเหมาเรือบางรายรีบเร่งจับจองเรือตั้งแต่วันศุกร์ทันทีที่มีการประกาศคว่ำบาตร สะท้อนภาวะขาดแคลนเรือที่ทวีความรุนแรงขึ้น
"เมื่อความต้องการส่งออกน้ำมันไปอินเดียและจีนจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่รัสเซียเพิ่มขึ้น ย่อมทำให้ความต้องการเรือที่ไม่ถูกคว่ำบาตรพุ่งตามไปด้วย" เคปเลอร์ (Kpler) แพลตฟอร์มวิเคราะห์การค้าระหว่างประเทศ กล่าวเมื่อวันจันทร์