ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: คาดเฟดใช้ QE ต่อ พยุงราคาทองขยับลงเพียง 70 เซนต์

ข่าวต่างประเทศ Saturday August 3, 2013 07:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดเกือบไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อคืนนี้ (2 ส.ค.) หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่อ่อนแอกว่าคาดการณ์ ซึ่งช่วยคลายความวิตกกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการชะลอหรือยุติการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค.ขยับลงเล็กน้อย 70 เซนต์ หรือ 0.05% ปิดที่ 1,310.5 ดอลลาร์/ออนซ์ ตลอดสัปดาห์ ราคาทองลดลง 0.9% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 4 สัปดาห์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย.ดีดขึ้น 28.8 เซนต์ หรือ 1.47% ปิดที่ 19.912 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค.เพิ่มขึ้น 7.7 ดอลลาร์ หรือ 0.53% ปิดที่ 1,451.5 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 2.15 ดอลลาร์ ปิดที่ 729.70 ดอลลาร์/ออนซ์

ราคาทองร่วงลงถึง 2% และแตะระดับต่ำที่ 1,282.4 ดอลลาร์ ในช่วงแรกของการซื้อขาย แต่ก็ดีดตัวอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น เมื่อกระทรวงแรงงานสหรัฐเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น 162,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. ขณะอัตราว่างงานลดลงแตะ 7.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2551

โดยตัวเลขจ้างงานเดือนล่าสุดนี้เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 175,000 ราย ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างเชื่องช้าจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน อันเนื่องมาจากภาษีที่สูง และการลดการใช้จ่ายภาครัฐส่งผลให้เศรษฐกิจยังไม่กระเตื้องขึ้นมากนักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แม้ตัวเลขการจ้างงานยังคงแข็งแกร่งในปีนี้

ขณะที่อัตราว่างงานเดือนก.ค. ถึงแม้ลดลงมากกว่าที่มีการคาดการณ์กันไว้ว่าจะลดลงแตะ 7.5% จากระดับ 7.6% ในเดือนมิ.ย. แต่นั่นอาจเป็นเพราะมีชาวอเมริกันจำนวนมากขึ้นที่ล้มเลิกความคิดที่จะหางาน

ข้อมูลดังกล่าวได้จุดประกายความหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจชะลอแผนการลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ออกไปก่อน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตลาดทองคำ เพราะโดยปกติแล้ว ทองคำจะได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากนักลงทุนจะเข้าซื้อโลหะมีค่า เพราะวิตกว่ามาตรการเหล่านี้อาจทำให้มูลค่าของเงินลดลง นอกจากนี้ นักลงทุนมักใช้ทองเป็นตัวปกป้องความเสี่ยงจากเงินเฟ้อซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นจากการผ่อนคลายทางการเงิน

สำหรับทิศทางตลาดในสัปดาห์หน้า นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตโดยสถาบันจัดการอุปทานสหรัฐ (ISM) ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ