ราคาทองฟิวเจอร์ดีดตัวจากอานิสงส์ดอลล์อ่อน สวนทางตลาดหุ้นร่วง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 15, 2016 19:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองฟิวเจอร์ปรับตัวขึ้นในวันนี้ โดยได้อานิสงส์จากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และจากคำสั่งซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางการดิ่งลงของตลาดหุ้นทั่วโลก

ณ เวลา 19.24 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเลกทรอนิกส์ ดีดตัวขึ้น 4.70 ดอลลาร์ หรือ 0.44% สู่ระดับ 1,083.0 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงจะเพิ่มความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

ดอลลาร์อ่อนค่าลงในวันนี้ โดยคำกล่าวของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ลดคาดการณ์ในตลาดเกี่ยวกับการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ส่งผลให้นักลงทุนพากันเข้าซื้อเยน

ณ เวลา 18.00 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ร่วงลง 0.62% สู่ระดับ 117.37 เยน และอ่อนค่าลง 0.44% สู่ระดับ 1.0911 เทียบยูโร ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.22% สู่ระดับ 128.06 เยน ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.19% สู่ระดับ 98.904

การอ่อนค่าของดอลลาร์รุนแรงขึ้นในช่วงบ่าย หลังจากนายคุโรดะกล่าวต่อคณะอนุกรรมการในสภาไดเอ็ทว่า BOJ ไม่มีแผนที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในระยะนี้

คำกล่าวของนายคุโรดะทำลายความหวังของนักลงทุนที่คาดการณ์ว่า BOJ มีแนวโน้มออกมาตรการเพิ่มเติม หลังจากที่นายคุโรดะกล่าวก่อนหน้านี้ว่า BOJ พร้อมใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าเงินเฟ้อที่ระดับ 2%

นอกจากนี้ นักลงทุนไม่ต้องการเพิ่มการถือครองโพสิชั่นก่อนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขค้าปลีกในเดือนธ.ค.

ดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้าทรุดตัวลงกว่า 200 จุด หลังราคาน้ำมันปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 30 ดอลลาร์/บาร์เรล

ณ เวลา 19.05 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้าดิ่งลง 260 จุด หรือ 1.60% สู่ระดับ 16,024 จุด

นักลงทุนจับตารายงานผลประกอบการของบริษัทหลายแห่งในวันนี้ รวมถึงซิตี้กรุ๊ป และแบล็คร็อค อิงค์ ขณะนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ผลกำไรของบริษัทในดัชนี S&P 500 จะปรับตัวลงราว 6.7% ในไตรมาส 4

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจในวันนี้เช่นกัน รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนธ.ค., ยอดค้าปลีกเดือนธ.ค., การผลิตภาคอุตสาหกรรม-อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนธ.ค., ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงต้นเดือนม.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนพ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ