ราคาทองฟิวเจอร์ร่วงเกือบ 1% หลัง BoE คงดอกเบี้ยวันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 14, 2016 22:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองฟิวเจอร์ร่วงลงเกือบ 1% ในวันนี้ หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันนี้ ขณะที่ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายในการประชุมเดือนหน้า

ณ เวลา 22.41 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเลกทรอนิกส์ ร่วงลง 13.10 ดอลลาร์ หรือ 0.97% สู่ระดับ 1,330.50 ดอลลาร์/ออนซ์

รายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (MPC) ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ในวันนี้บ่งชี้ว่า BoE มีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุมเดือนหน้า หลังจากที่ BoE ทำการประเมินผลกระทบที่เศรษฐกิจอังกฤษได้รับจากการที่สหราชอาณาจักรลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)

"ขณะที่ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ภาวะย่ำแย่ลงระหว่างปัจจัยสนับสนุนการขยายตัว และการดีดตัวของเงินเฟ้อ กรรมการส่วนใหญ่ของ MPC จึงคาดว่าจะทำการผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุมเดือนส.ค." รายงานระบุ

"จะมีการพิจารณารายละเอียดที่แน่นอนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุมเดือนส.ค. ซึ่งจะมีการออกรายงานคาดการณ์เงินเฟ้อ"

ทั้งนี้ BoE ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยคะแนนเสียง 8-1 ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25%

นอกจากนี้ BoE ยังได้ลงมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ในการคงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 3.75 แสนล้านปอนด์

ขณะเดียวกัน การแข็งค่าของดอลลาร์ ก็ได้เป็นปัจจัยกดดันราคาทองในวันนี้

ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น จะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

ดอลลาร์ดีดตัวเกือบ 1% เทียบเยนในวันนี้ จากการคาดการณ์ที่ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ณ เวลา 21.47 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์พุ่งขึ้น 0.91% สู่ระดับ 105.43 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวขึ้น 0.26% สู่ระดับ 1.1117 ดอลลาร์ และทะยานขึ้น 1.12% สู่ระดับ 117.15 เยน ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.08% สู่ระดับ 96.225

เยนดิ่งลงเทียบดอลลาร์และยูโรในวันนี้ หลังมีรายงานว่า นายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แนะนำให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกพันธบัตรที่ไม่มีการระบุวันครบกำหนดไถ่ถอน (Perpetual Bond) เพื่อให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เข้าซื้อโดยตรง

การที่ BOJ เข้าซื้อพันธบัตร Perpetual Bond โดยตรงจากรัฐบาล จะทำให้ BOJ เป็นฝ่ายให้เงินทุนโดยตรงแก่ทางรัฐบาลด้วยการพิมพ์เงินใหม่ และจะเป็นครั้งแรกที่ BOJ ใช้นโยบาย "helicopter money" ซึ่งถือเป็นการจ่ายเงินโดยตรงแก่ผู้บริโภค และภาคธุรกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ