สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวลดลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันในวันศุกร์ (9 มิ.ย.) โดยได้รับแรงกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับปอนด์และยูโร โดยเฉพาะเงินปอนด์ที่ร่วงลงอย่างมาก หลังผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการชี้พรรคอนุรักษ์นิยมของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 8.10 ดอลลาร์ หรือ 0.63% ปิดที่ระดับ 1,271.40 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะที่ทั้งสัปดาห์ ราคาทองลดลง 0.7% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 5 สัปดาห์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 19.1 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 17.223 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 2.2 ดอลลาร์ หรือ 0.2% ปิดที่ 940.3 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 9.7 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 856.2 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำร่วงลงเนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาทองคำมีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่นๆ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้น 0.4% แตะที่ 97.57 เมื่อคืนนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนยังได้ซึมซับปัจจัยผลการเลือกตั้งในสหราชอาณาจักร ซึ่งไม่มีพรรคการเมืองใดครองเสียงข้างมากในสภา รวมถึงคำให้การของนายเจมส์ โคมีย์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (FBI) เมื่อวานนี้ ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ และจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ นายโคมีย์ได้เข้าให้การต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาสหรัฐเมื่อวันพฤหัสบดีนี้ โดยกล่าวว่า เขาไม่มีข้อสงสัยกรณีที่รัฐบาลรัสเซียได้เข้าแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีที่แล้ว หรือกรณีที่ว่ารัสเซียได้ลักลอบเจาะระบบคอมพิวเตอร์ของคณะกรรมการแห่งชาติของพรรคเดโมแครต
ก่อนหน้านี้ นักลงทุนกังวลว่า หากคำให้การของนายโคมีย์บ่งชี้ว่าปธน.ทรัมป์ได้ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ก็จะส่งผลให้มีการดำเนินการถอดถอนปธน.ทรัมป์ออกจากตำแหน่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ
สำหรับในสัปดาห์หน้า นักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 13-14 มิ.ย. โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งนี้