สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดเพิ่มขึ้นเมื่อคืนนี้ (3 ส.ค.) โดยนักลงทุนเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่ซบเซาของสหรัฐ
นอกจากนี้ การซื้อขายยังได้รับปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ได้เพิ่มความน่าดึงดูดของทอง เพราะทำให้สัญญาทองมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 3.10 ดอลลาร์ หรือ 0.25% ปิดที่ 1,223.20 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางเดือนก.ค. 2560
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 7.7 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 15.462 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ปรับตัวขึ้น 8.7 ดอลลาร์ หรือ 1.05% ปิดที่ 836.90 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ปรับตัวลดลง 7.6 ดอลลาร์ หรือ 0.8% ปิดที่ 907.90 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ จากการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานของสหรัฐที่ต่ำกว่าคาด โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.01% สู่ระดับ 95.151
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลในการซื้อขายเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนก.ค. โดยเพิ่มขึ้นเพียง 157,000 ตำแหน่ง โดยเป็นตัวเลขการเพิ่มขึ้นต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 190,000 ตำแหน่ง หลังจากที่เพิ่มขึ้น 248,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.9% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และใกล้ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 50 ปี หลังจากแตะระดับ 4.0% ในเดือนมิ.ย.
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 7 เซนต์/ชั่วโมง หรือ 0.3% จากระดับ 0.2% ในเดือนมิ.ย. และเพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบรายปี โดยสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างต่อชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
ขณะเดียวกัน ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) พบว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 55.7 ในเดือนก.ค. โดยอยู่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 58.6 จากระดับ 59.1 ในเดือนมิ.ย.
ดัชนีภาคบริการได้รับผลกระทบจากความวิตกเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า
อย่างไรก็ดี ดัชนีภาคบริการของสหรัฐยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคบริการ โดยดัชนีอยู่เหนือระดับ 50 เป็นเวลา 102 เดือนติดต่อกัน