ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: เงินดอลล์แข็งค่า กดดันราคาทองปิดลดลง 90 เซนต์

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday August 11, 2018 08:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (10 ส.ค.) เนื่องจากการพุ่งขึ้นของสกุลเงินดอลลาร์ได้สร้างแรงกดดันต่อตลาด และยังได้บดบังปัจจัยบวกจากความวิตกกังวลที่ว่าวิกฤตค่าเงินลีราของตุรกีอาจจะส่งผลกระทบลุกลามไปยังเศรษฐกิจและตลาดการเงินทั่วโลก

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 90 เซนต์ หรือ 0.07% ปิดที่ 1,219 ดอลลาร์/ออนซ์ และลดลง 0.3% ในรอบสัปดาห์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 16.7 เซนต์ หรือ 1.08% ปิดที่ 15.295 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 4.5 ดอลลาร์ หรือ 0.54% ปิดที่ 829.60 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 2.7 ดอลลาร์ หรือ 0.32% ปิดที่ 901.10 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.77% แตะระดับ 96.37 เมื่อคืนนี้

โดยปกติแล้ว ราคาทองคำและดอลลาร์จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงข้ามกัน โดยเมื่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ราคาทองคำจะปรับตัวลดลง เนื่องจากดอลลาร์ที่แข็งค่าทำให้ทองคำ ซึ่งกำหนดราคาในรูปของสกุลเงินดอลลาร์ มีราคาแพงขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่นๆ

ทั้งนี้ ราคาทองดีดตัวขึ้นในช่วงแรก หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมิ.ย.

การปรับตัวขึ้นของดัชนี CPI ได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวของค่าเช่าบ้าน ขณะที่ราคาอาหารปรับตัวขึ้นเช่นกัน แต่ราคาพลังงานร่วงลง

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 2.9% ในเดือนก.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 2.9% เช่นเดียวกันในเดือนมิ.ย.

หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% เช่นกันในเดือนพ.ค.และมิ.ย.

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานดีดตัว 2.4% ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2551 หลังจากเพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือนมิ.ย.

นักลงทุนในตลาดทองคำจับตาข้อมูลเงินเฟ้อเป็นพิเศษ เพราะตัวเลขเงินเฟ้อนั้นมีผลต่อตลาดทองคำ โดยทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ต่อสู้กับเงินเฟ้อได้ดี เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูง ราคาทองคำก็จะปรับตัวสูงขึ้น และเมื่ออัตราเงินเฟ้อต่ำ ราคาทองคำก็มีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลงด้วยเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ นักลงทุนยังเข้าซื้อสัญญาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและตุรกี โดยค่าเงินลีราของตุรกีดิ่งลงไปถึง 20% แตะระดับ 6.797 เทียบดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งการให้เพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีขึ้นอีกสองเท่า

ขณะเดียวกัน ค่าเงินตุรกียังถูกกดดัน หลังจากที่นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี กล่าวเรียกร้องให้ชาวตุรกีแปลงสกุลเงินดอลลาร์และทองคำให้อยู่ในรูปสกุลเงินลีรา

นายเออร์โดกันกล่าวว่า ตุรกีกำลังเผชิญสงครามเศรษฐกิจ และตุรกีจะตอบโต้ประเทศที่เป็นฝ่ายเริ่มก่อสงครามดังกล่าว ทั้งยังระบุด้วยว่า ดอลลาร์จะไม่สามารถสกัดการขยายตัวของตุรกี และเขาเรียกร้องให้ตุรกีเพิ่มการผลิตและการส่งออก

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของผู้นำสหรัฐและผู้นำตุรกีมีขึ้นหลังจากที่หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดิ่งลงของค่าเงินลีราที่จะมีต่อธนาคารยุโรปที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในตุรกี โดย ECB วิตกว่าการทรุดตัวของค่าเงินจะทำให้ภาคธุรกิจของตุรกีผิดนัดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ นอกจากนี้ ประเทศในยูโรโซนมีการเกินดุลการค้ากับตุรกี ดังนั้น หากตุรกีประสบภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ก็จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของยูโรโซนเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ตลาดทองคำไม่สามารถรักษาแรงบวกในตลาดเอาไว้ได้ โดยการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นปัจจัยสกัดช่วงบวก ส่งผลให้ราคาทองปิดตลาดขยับลงเล็กน้อย และปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ