ราคาทองดิ่งเหว ต่ำสุดรอบกว่า 18 เดือน ใกล้หลุด 1,180 ดอลลาร์ เหตุดอลล์แข็งทุบตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 15, 2018 23:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองทรุดแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 18 เดือนในวันนี้ ใกล้หลุดระดับ 1,180 ดอลลาร์ ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่ามากที่สุดในรอบกว่า 1 ปี ท่ามกลางความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินในตุรกี

ทั้งนี้ ราคาทองสปอตดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.ปีที่แล้ว ก่อนฟื้นตัวขึ้นในเวลาต่อมา

ส่วนราคาทองในตลาดฟิวเจอร์ ณ เวลา 23.28 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเลกทรอนิกส์ ร่วงลง 17.20 ดอลลาร์ หรือ 1.43% สู่ระดับ 1,183.50 ดอลลาร์/ออนซ์

ราคาทองยังคงไม่สามารถฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่ดิ่งลงต่ำกว่าระดับ 1,200 ดอลลาร์ในวันจันทร์ ซึ่งเป็นระดับสำคัญทางจิตวิทยา เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี

ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 13 เดือน ขณะที่นักลงทุนเพิ่มการถือครองดอลลาร์ ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการที่เศรษฐกิจยุโรปอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินในตุรกี

ณ เวลา 22.46 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์บวก 0.15% สู่ระดับ 96.87 หลังจากพุ่งแตะระดับ 96.984 ในช่วงแรก ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว ขณะที่ดอลลาร์ร่วงลง 0.45% สู่ระดับ 110.64 เยน และยูโรปรับตัวลง 0.61% สู่ระดับ 125.28 เยน และอ่อนค่า 0.17% สู่ระดับ 1.1323 ดอลลาร์

ยูโรดิ่งแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปีจากความกังวลที่ว่าธนาคารในยุโรปอาจเผชิญความเสี่ยงจากวิกฤตการเงินในตุรกี

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดิ่งลงของค่าเงินลีราต่อธนาคาร BBVA ของสเปน, ธนาคาร UniCredit ของอิตาลี และธนาคาร BNP Paribas ของฝรั่งเศส

การดิ่งลงของค่าเงินลีราจะส่งผลกระทบต่อธนาคารยุโรปที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในตุรกี โดย ECB วิตกว่าการทรุดตัวของค่าเงินจะทำให้ภาคธุรกิจของตุรกีผิดนัดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ เนื่องจากจะทำให้ลูกหนี้ในตุรกีต้องชำระหนี้ในมูลค่าของลีราที่สูงขึ้น โดยหนี้สกุลเงินต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 40% ของสินทรัพย์ในภาคธนาคารของตุรกี

ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ระบุว่า ภาคธนาคารของสเปนได้ปล่อยสินเชื่อแก่ตุรกีคิดเป็นวงเงิน 8.33 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารฝรั่งเศสปล่อยสินเชื่อ 3.84 หมื่นล้านดอลลาร์ และธนาคารอิตาลีปล่อยสินเชื่อ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์

ทางการตุรกีประกาศจำกัดการทำธุรกรรมสว็อปค่าเงินของธนาคารพาณิชย์ในประเทศ โดยหวังว่าจะช่วยลดคำสั่งขายสกุลเงินลีรา หลังจากที่ทรุดตัวลงอย่างหนักก่อนหน้านี้ ขณะที่นักลงทุนวิตกว่าวิกฤตการเงินของตุรกีจะส่งผลกระทบลุกลามไปทั่วโลก

รัฐบาลตุรกีประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ ซึ่งรวมถึงรถยนต์โดยสาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพื่อเป็นการตอบโต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สั่งการให้เพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีขึ้นอีกสองเท่า โดยอัตราภาษีเหล็กนำเข้าจากตุรกีจะอยู่ที่ 50% และอลูมิเนียมอยู่ที่ 20%

ทั้งนี้ นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ได้ลงนามในคำสั่งให้ปรับขึ้นภาษีรถยนต์จากสหรัฐเป็น 120% และขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็น 140% ขณะที่ขึ้นภาษีบุหรี่เป็น 60% นอกจากนี้ ตุรกียังได้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าเครื่องสำอาง ข้าว และถ่านหินจากสหรัฐด้วย

คำสั่งของปธน.ตุรกีมีขึ้นไม่นานหลังจากที่รัฐบาลตุรกีประกาศว่าจะคว่ำบาตรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐ ซึ่งรวมถึง iPhone ของบริษัทแอปเปิล อิงค์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ