ราคาทองฟิวเจอร์ดีดตัวขึ้นในวันนี้แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนหน้า หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่อ่อนแอเกินคาดของสหรัฐ
ราคาทองยังได้ปัจจัยหนุนจากความกังวลจากการที่สหรัฐทำสงครามการค้ากับจีนและเม็กซิโก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ซึ่งจะเพิ่มความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น
ณ เวลา 21.41 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ดีดตัวขึ้น 8.90 ดอลลาร์ หรือ 0.66% สู่ระดับ 1,351.60 ดอลลาร์/ออนซ์
ราคาทองทะยานขึ้น 2.9% ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบรายสัปดาห์นับตั้งแต่เดือนเม.ย.2559
ทั้งนี้ เฟดจะประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันที่ 18-19 มิ.ย. ขณะที่ FedWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 79% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนก.ค. และมีโอกาส 90% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. และโอกาสมากกว่า 80% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธ.ค.
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เฟดกำลังจับตามองพัฒนาการทางเศรษฐกิจในขณะนี้ และจะดำเนินการในสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไป
นอกจากนี้ นายพาวเวลยังเปิดเผยว่า เครื่องมือที่เฟดเคยใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ ซึ่งได้แก่ การกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ใกล้ 0% และการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มีแนวโน้มที่จะถูกนำมาใช้อีกครั้งหนึ่ง
กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 75,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 180,000 ตำแหน่ง และต่ำกว่าระดับ 224,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย.
ทั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 4 เดือนที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 100,000 ตำแหน่ง
ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.6% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2512 สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% เช่นเดียวกันในเดือนเม.ย.
เมื่อเทียบรายปี ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานลดลงสู่ระดับ 3.1%
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ทบทวนปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนมี.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 153,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 189,000 ตำแหน่ง และทบทวนปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนเม.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 224,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 263,000 ตำแหน่ง
กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่าในเดือนพ.ค. ภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 90,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐจ้างงานลดลง 15,000 ตำแหน่ง